อุดเงินไหลออกนอกประเทศ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกระแสในสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) แสดงความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ไอไอจี) ของผู้ให้บริการโอทีที (Over The Top : OTT) จากต่างประเทศ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ กูเกิล ทวิตเตอร์ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าจะกระทบต่อการใช้งานและจะมีการเก็บค่าบริการจากประชาชนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งขอยืนยันว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับประชาชน
ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ต กำลังถูกคัดค้านอีก เพราะหลายฝ่ายไม่ยอมฟัง ไม่ยอมเข้าใจ ทั้งๆที่หลายประเทศในโลกกำลังหาวิธีการจัดเก็บเงินรายได้จากผู้ประกอบการเหล่านี้อยู่ ทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียน ซึ่งอาเซียนก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยสิงคโปร์ไม่เห็นด้วย เพราะโอทีทีเหล่านั้นตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์มีรายได้เข้าประเทศอยู่แล้ว ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว เมียนมาเห็นว่าควรจะจัดเก็บรายได้และต้องทำเลย เพราะเงินกำลังไหลออกนอกประเทศ
“การจัดเก็บรายได้จากโอทีที ยังอยู่ในระหว่างเตรียมการรับฟัง ความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ยังมีเวลาเตรียมตัว 1 ปี หรือยาวไปจนกว่าจะเปิดให้บริการ 5 จี แต่ถ้าหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ประเทศไทยจะไม่สามารถมีรายได้จากผู้ประกอบการอย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์เลย แต่ต้องเสียแบนด์วิธ หรือพื้นที่โครงข่ายให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ ขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศต้องเสียค่าภาษี เสียค่าใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ต”.