ถึงเวลาเก็บเงิน "โอทีที"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ถึงเวลาเก็บเงิน "โอทีที"

Date Time: 9 เม.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • ความพยายามที่จะจัดเก็บรายได้จากการให้บริการธุรกิจโอทีที Over The Top : OTT จากต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล ทวิตเตอร์ ไลน์ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

ความพยายามที่จะจัดเก็บรายได้จากการให้บริการธุรกิจโอทีที Over The Top : OTT จากต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล ทวิตเตอร์ ไลน์ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เคยคิดจัดเก็บรายได้ เมื่อปี 2559 แต่ไม่สำเร็จ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คิดว่าถึงเวลา ที่จะศึกษาแนวทางในการจัดเก็บรายได้จากบริการโอทีทีแล้ว โดยจะจัดเก็บรายได้จากการใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ไอไอจี) เนื่องจากพบว่าปริมาณการใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ มีอัตราเติบโตรวดเร็วมากจากปี 2557 มีปริมาณการใช้ข้อมูล (ดาต้า) 494,194 เทราไบต์ (Terabyte) และปี 2561 มีการใช้งานมากถึง 5.8 ล้านเทราไบต์ และเชื่อว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมากมายมหาศาล เมื่อเปิดให้บริการ 5 จี

ประกอบกับข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ก 61 ล้านบัญชี ใช้งาน 655 ล้านครั้ง ต่อเดือน ยูทูบ 60 ล้านบัญชี ใช้งาน 409 ล้านครั้งต่อเดือน ไลน์ 55 ล้านบัญชี ใช้งาน 125 ล้านครั้งต่อเดือน และข้อมูลการสำรวจมูลค่าเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัล ของสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ปี 2561 พบการใช้จ่ายผ่านสื่อดิจิทัลมีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 36% จากมูลค่า 12,400 ล้านบาท ในปี 2560 และคาดการณ์ปี 2562 เติบโตเพิ่ม 16% มูลค่ากว่า 19,692 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าว กสทช.จึงได้หารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จนเกิดไอเดียที่จะหาแนวทางการจัดเก็บเงินรายได้ จากเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ที่มาใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตของประเทศไทย แบบฟรีๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย และยังมีรายได้จากประเทศไทย ปีละหลายพันล้าน จากการขายโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์

ทั้งนี้ การซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ผู้ประกอบการไทย ต้องจ่ายเงินตรงไปยังต่างประเทศ โดย ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายใดๆเลย แต่หากจะให้ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ มาจ่ายภาษีให้กับประเทศไทย ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งบริษัทอยู่ในประเทศไทย

“ดังนั้น ผมจึงต้องการให้เงินที่ไหลออกนอกประเทศ เพื่อไปซื้อโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยด้วย เพราะคนไทยได้ลงทุนสร้างโครงข่ายอินเตอร์เน็ตรองรับความต้องการของคนไทย แต่เมื่อต่างชาติมาใช้บริการแล้ว ก็ต้องจ่ายรายได้ให้กับประเทศไทยและคนไทยด้วย หากไม่มีมาตรการใดๆเลย ในอนาคต ผู้ประกอบการคนไทยก็คงหันไปซื้อโฆษณาเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะมีเม็ดเงินเหลือมาซื้อโฆษณาทีวีดิจิทัล หรือสื่ออื่นๆในประเทศได้อย่างไร หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ธุรกิจในประเทศก็ต้องปิดตัวเองไป โดยเฉพาะธุรกิจสื่อ เพราะไม่มีเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่ต่อไปได้”

ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะจัดเก็บรายได้จากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ เพื่อให้ไปเรียกเก็บค่าบริการจาก เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ในฐานะที่มาใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตของประเทศไทย เปรียบเสมือนเป็นค่าวีซ่าเข้าประเทศไทย หรือภาษีนำเข้า เมื่อมีการนำเข้าบริการจากต่างประเทศ ก็ต้องจ่ายภาษีศุลกากร ตามที่ประเทศไทย กำหนดด้วย เพื่อประเทศไทยจะได้มีรายได้ไปบำรุงรักษาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ และขยายการลงทุนโครงข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อรองรับความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทย ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ทั้งนี้ แนวคิดการจัดเก็บรายได้จากการใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตนั้น เพื่อเตรียมการรองรับการเปิดให้บริการ 5 จี ในปี 2563 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล หากไม่เตรียมการรองรับ ประเทศไทยก็จะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ และไม่มีรายได้จากการใช้บริการโอทีทีจากต่างประเทศเลย

ด้านนายพิสิฐ บุญศรีเมือง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาโทรคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดเก็บรายได้จาก เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแนวคิดของ กสทช.ที่กำลังจะดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะว่า กสทช.ควรจะศึกษาวิธีการของต่างประเทศ ที่สามารถจัดเก็บภาษีหรือจัดเก็บรายได้จากเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ นอกจากนี้ ควรจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง เพื่อจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการไทย ที่โอนเงินชำระค่าโฆษณาให้กับเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ซึ่งเป็นการโอนเงินไปต่างประเทศ ด้วยการนำระบบเพย์เมนต์ ซิงเกิล เกตเวย์ (Payment Single Gateway) มาใช้ตรวจสอบ เพื่อเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้ เงินไม่ไหลออกนอกประเทศด้วย

เพราะฉะนั้น ควรจะกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์ เหมือนกับที่กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีจากขายออนไลน์ ที่ให้ธนาคารพาณิชย์ต้องรายงานการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีธนาคารรวมกัน 3,000 ครั้งต่อปี หรือ 400 ครั้งต่อปี ยอดเงินรวมกันมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป

“ผมมีคำถามว่า ทำไมเมื่อจัดเก็บภาษีค้าขายออนไลน์ได้ เหตุใดจึงจะจัดเก็บภาษีจากเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ไม่ได้ ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่า มันต้องมีวิธี และทางออก แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน และนำรูปแบบจากต่างประเทศที่สามารถจัดเก็บภาษีเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ได้ มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินการต่อไป”.

ดวงพร อุดมทิพย์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ