กสทช.หาแนวร่วมอาเซียนเก็บโอทีที รีดรายได้จากเฟซบุ๊ก-ยูทูบ อัตราตามการใช้โครงข่าย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กสทช.หาแนวร่วมอาเซียนเก็บโอทีที รีดรายได้จากเฟซบุ๊ก-ยูทูบ อัตราตามการใช้โครงข่าย

Date Time: 5 เม.ย. 2562 07:01 น.

Summary

  • นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เข้าร่วมประชุม

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เข้าร่วมประชุมคณะเตรียมงานการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเตรียมความพร้อมและรายละเอียดของการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม แล้วนำมาเสนอในที่ประชุมอาเซียนในเดือน ส.ค. 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมอบหมายให้นายก่อกิจ นำแนวทางการจัดเก็บรายได้จากการใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศของผู้ให้บริการโอทีที (OVERT THE TOP : OTT) จากต่างประเทศ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ เป็นต้น ไปหารือในเวทีการประชุมครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนต่างประสบปัญหาการเข้ามาให้บริการโอทีทีในประเทศ แต่ไม่สามารถจัดเก็บรายได้และไม่สามารถจัดเก็บภาษีในประเทศได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการใช้บริการของโอทีทีต่างประเทศนั้น เป็นการโอนเงินค่าใช้จ่ายไปต่างประเทศทั้งหมด

สำหรับหลักการเบื้องต้น การจัดเก็บค่าใช้จ่ายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ อาจจะแบ่งตามปริมาณการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น 1.การใช้งาน 20-50 เทราไบต์ ใช้ฟรี 2.ใช้งานตั้งแต่ 50-100 เทราไบต์ 3. ใช้งานตั้งแต่ 100-200 เทราไบต์ จ่ายเงินค่าใช้ตามอัตราที่ กสทช.กำหนด และ 4. ใช้งานตั้งแต่ 200 เทราไบต์ขึ้นไป จ่ายอัตราก้าวหน้า ส่วนราคาค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าใดนั้น ต้องรอผลการศึกษา และข้อมูลจากผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ต และผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศก่อน คาดว่าจะใช้เวลาราว 6-7 เดือน หลังจากนั้น กสทช.ก็ต้องนำมาร่างประกาศกฎเกณฑ์ เพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป

“กสทช.ต้องร่างหลักเกณฑ์ เพื่อนำมาประกาศใช้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาแนวทางร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ แม้โลกอินเตอร์เน็ตจะเป็นโลกไร้พรมแดน แต่ผมอยากจะให้มองว่า เมื่อต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาประเทศ ก็ยังมีค่าวีซ่า ฉะนั้น การนำข้อมูลเข้ามาให้บริการในไทย ก็ควรจ่ายเงินค่าใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย และประเทศไทยด้วย เพื่อจะได้นำเงินไปบำรุงรักษาโครงข่าย เพื่อรองรับการบริการที่ดีต่อไป”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ