โดนปฏิเสธวีซ่าอเมริกา "เพราะ" ตกสัมภาษณ์ ประวัติไม่ดี หรือ จนท.รมณ์บ่จอย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โดนปฏิเสธวีซ่าอเมริกา "เพราะ" ตกสัมภาษณ์ ประวัติไม่ดี หรือ จนท.รมณ์บ่จอย

Date Time: 21 มี.ค. 2562 14:31 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • บางทีเรื่องบางเรื่องที่ควรจะมีเหตุมีผล พอถึงเวลากลับกลายเป็นว่า "เหตุผลไม่ปรากฏใดๆ" ปล่อยให้เราต้องเผชิญกับเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ในหัวสมอง

Latest


บางทีเรื่องบางเรื่องที่ควรจะมีเหตุมีผล พอถึงเวลากลับกลายเป็นว่า "เหตุผลไม่ปรากฎใดๆ" ปล่อยให้เราต้องเผชิญกับเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ในหัวสมอง เพราะไม่มีสัญญาณตอบกลับ ภายหลังถูกปฏิเสธที่จะตอบ หรืออธิบายความชัดเจนในเรื่องที่ไปต่อไม่ได้ ...มึนต่อไปสิคะ! ขออนุญาตจำลองสถานการณ์สัมภาษณ์การขอวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา 

บทสนทนาทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ 

เจ้าหน้าที่ : คุณจะไปทำอะไรที่ "ยูไนเต็ด สเตท" (united states) ? 

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : ไปทำธุระ และไปเที่ยวค่ะ 

เจ้าหน้าที่ : (จดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับสีหน้าที่ไม่ดี ทำท่าส่ายหน้าใส่จอ) 

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : คุณจะดูเอกสารทางการเงิน และหนังสือรับรองการทำงาน ฯลฯ มั้ยคะ

เจ้าหน้าที่ : เงียบ 

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : ..........

เจ้าหน้าที่ : คุณเคยไปอยู่อเมริกามาแล้ว 2 ปีกว่า 

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : ใช่ค่ะ ฉันไปเรียนหนังสือที่นั่น  

เจ้าหน้าที่ : ผมขอโทษ เราต้องปฏิเสธการให้วีซ่าคุณ (พร้อมยื่นพาสปอร์ตผ่านช่องเล็กๆ กลับมา)

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : ฉันทำอะไรผิดเหรอ ช่วยกรุณาชี้แจง 

เจ้าหน้าที่ : (ยังคงทำสีหน้าไม่ยิ้มแย้ม) ผมไม่สามารถตอบคุณได้

ผู้ถูกสัมภาษณ์ : ???????? 

นั่นแหละค่ะ เชื่อว่าผู้ผิดหวังจากการพิชิตวีซ่าไปเที่ยวประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อยเลยที่เคยโดนปฏิเสธในลักษณะนี้ ซึ่งหลายคนได้ตั้งกระทู้ไว้ตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น "ฉันไปก่อคดีอาชญากรรมเปล่า? , ทำไมฉันโดนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติใส่แบบนั้น , ฉันไม่ได้ทำผิดอะไร ทำไมเค้าไม่ให้ผ่าน , ในจอคอมพิวเตอร์นั่นมันมีข้อมูลแย่ๆ ของฉันเหรอ หรือว่าอย่างไรกันแน่? คุณควรอธิบายเหตุผลนะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เชิดใส่เรา ฯลฯ 

ประเทศที่ "ว่ากันว่า" ขอวีซ่าได้ยากที่สุด

คนที่ขอวีซ่าผ่านแล้ว อะไรมันก็ง่ายไปหมด โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีประวัติการเดินทางไปอเมริกามาก่อนเลยทั้งชีวิต อีกทั้งในประเทศไทยยังมีงานการทำเป็นหลักแหล่ง การขอวีซ่าไปเที่ยวจึงไม่ยุ่งยาก เพราะเชื่อได้ว่ายังไงซะ คุณจะไม่ไปโดดวีซ่า เป็นผีเร่ร่อนผิดกฎหมายอยู่ในประเทศเขา ส่วนขั้นตอนการขอวีซ่าก็ไม่ได้ง่ายนะคะ สลับซับซ้อน (สำหรับมือใหม่) เพราะมีข้อมูลต่างๆ ให้กรอกมากมาย (แบบฟอร์ม DS-160) ราคาค่าธรรมเนียมก็ไม่ได้ถูก การพิจารณาเอกสารเองก็เข้มงวด รวมถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องไปสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่สถานทูตด้วยแล้ว ....เฮ้ออออ ลุ้นกันยิ่งกว่าสอบเข้าเรียนต่อคณะแพทย์มหาวิทยาลัยดังในไทย 

แต่เมื่อลองค้นหาอ่านรีวิวการขอวีซ่าอเมริกาในอินเทอร์เน็ต ก็เจอทั้งคนที่บอกว่าง่าย เอกสารไม่เห็นมีอะไรเลย ยื่นให้ไปเจ้าหน้าที่ก็แทบไม่ดู สัมภาษณ์ไม่กี่คำถาม ก็ได้วีซ่า 10 ปีแล้ว รวมไปถึงคนที่บอกว่า "ยาก" วีซ่าไม่ผ่าน เตรียมเอกสารไปเจ้าหน้าที่ก็ไม่ค่อยดูเหมือนกัน ถามไม่กี่คำถาม แล้วก็บอกว่า "วีซ่าโดนปฏิเสธ" หลายคนจึงมองว่า การขอวีซ่าท่องเที่ยวอเมริกาเป็นเรื่องของ “ดวง” เกี่ยวโยงไปถึงเจ้าหน้าที่คนสัมภาษณ์วีซ่าด้วย 

หลักพิจารณาวีซ่าท่องเที่ยวอเมริกา ขึ้นอยู่กับอะไร 

หลักการง่ายๆ ในการพิจารณาวีซ่าท่องเที่ยวอเมริกา รวมถึงวีซ่าท่องเที่ยวของอีกหลายๆ ประเทศ คือ วีซ่าท่องเที่ยวเป็นวีซ่าประเภทชั่วคราว เข้าไปแล้วอยู่ได้ชั่วคราว เข้าไปแล้วต้องกลับออกมา ดังนั้นคนที่มีความมั่นคงด้านการงาน การเงิน และครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย ย่อมมีโอกาสทำผิดกฎวีซ่าน้อยกว่าคนที่มีส่วนประกอบเหล่านี้ไม่มั่นคง

ยกตัวอย่างเช่น ผู้สมัครขอวีซ่า ชื่ออ้วน อายุ 30 ปี ทำงานในบริษัทใหญ่ ตำแหน่งหน้าที่การงานดีพอสมควร มีเงินเดือน 35,000 บาท โอนเข้าบัญชีตามปกติทุกสิ้นเดือน และทำงานที่บริษัทนี้มากว่า 5 ปี ฐานะทางการเงินปานกลาง คือ มีเงินเก็บบ้างไม่มากนัก สถานะโสด แต่ก็มีครอบครัว คือ พ่อแม่พี่น้องอยู่เมืองไทย

ขณะที่ ผู้สมัครขอวีซ่า ชื่อผอม อายุ 30 ปี เท่ากัน ทำงานในร้านค้าขนาดไม่ใหญ่ ในตำแหน่งหัวหน้างาน เงินเดือนรับเป็นเงินสด โดยทางร้านออกจดหมายรับรองงานระบุว่าได้รับเงินเดือน เดือนละ 45,000 บาท ทำงานมากว่า 5 ปี ฐานะทางการเงินปานกลาง คือ มีเงินเก็บบ้างไม่มากนัก เพราะเงินเดือนไม่ได้เข้าบัญชี รับเป็นเงินสดก็แบ่งเข้าบัญชีบ้าง สถานะโสด แต่ก็มีครอบครัว คือ พ่อแม่พี่น้องอยู่เมืองไทย

ถ้าถามว่า สองคนนี้ ใครมีโอกาสขอวีซ่าผ่านมากกว่ากัน ตรงนี้ตอบได้ชัดๆเลยว่าเป็นคนชื่ออ้วน เนื่องจากคนชื่ออ้วน ทำงานในบริษัทที่มั่นคงกว่ามาก การจ่ายเงินเดือนอยู่ในระบบถูกต้อง ที่ผ่านมาทำ 5 ปี ต้องมีการหักเงินเข้ากองทุน ต้องเสียภาษีมาตลอด ต่างกับการทำงานของคนชื่อผอม ซึ่งเป็นห้างร้านขนาดไม่ใหญ่ เงินเดือนไม่ได้เข้าระบบอะไร แถมยังจ่ายกันเป็นเงินสด ซึ่งถ้ามองกันตามหลักการแล้ว ที่ไหนจ่ายเงินเดือนเป็นเงินสด ก็แสดงว่ากิจการจะต้องมีขนาดเล็ก (กิจการขนาดใหญ่ จะโดนตรวจสอบเยอะ การจ่ายเงินเดือนต้องอยู่ในระบบ) ดังนั้นต่อให้ที่ทำงานของคนชื่อผอม ออกเอกสารอะไรให้มา ระบุเงินเดือนมากแค่ไหนก็ตาม หรือระบุว่าทำงานมานานก็เถอะ น้ำหนักการพิจารณาก็มีไม่มาก

ผู้สมัคร 2 คนแตกต่างกันหลักๆ คือ เรื่องงาน ก็ส่งผลให้วีซ่าผ่าน หรือไม่ผ่านได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องย้ำเตือนกันว่า เรื่องการขอวีซ่าเป็นเรื่องที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่างมาก กฎเกณฑ์ต่างๆ ก็มากมาย และที่สำคัญต้องดูกันเป็นกรณีๆ ไป หรือที่เรียกกันว่าเป็น Case by Case นี่แค่ยกมาให้ดูตัวอย่างเดียวจากทั้งหมดหลายร้อยหลายพันเคส ที่ไม่มีเรื่องดวงมาเกี่ยวข้องเลย ว่ากันตามหลักการพิจารณาล้วนๆ

จากองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างในการพิจารณาของสถานฑูต มีหลักดังนี้

1. สถานะทางการเงิน
สถานะทางการเงินคุณเพียงพอสำหรับการเดินทาง ไม่ใช่ว่าคุณเองเงินเข้าออกทุกเดือน ยังไม่เพียงพอกับเงินค่าตั๋วเครื่องบิน แบบนี้เจ้าหน้าที่ท่านคงพิจารณาไม่ให้ผ่านค่ะ

2. รวยข้ามคืน
รวยข้ามคืน เข่น การเงินของคุณ มีความสม่ำเสมอ มีที่มาที่ไป เช่น คุณ มีเงินเดือนประจำ 10,000 บาทเข้าทุกเดือน แต่อยู่ ๆ จะไปเที่ยวอเมริกา พอตอนไปยื่นวีซ่า ไปหาเงินจากเพื่อนมาโปะในบัญชี 300,000 บาท ทีเดียว ลักษณะนี้เป็นใคร ๆ ก็ไม่เชื่อ

3. เงินมากเกิน
อย่าคิดว่ามีเงินมากวีซ่าคุณจะไม่ถูกปฏิเสธ การเงินของคุณดีเลิศจนน่าสงสัย เพราะบางอย่างอาจจะสื่อถึงการฟอกเงิน การทำธุรกรรมไม่ว่าคุณจะรวยล้นฟ้าหรือ จนแทบไม่มีจะกิน แต่ถ้าคุณโปร่งใส การเงินมีที่มาที่ไป ข้อนี้ ทางเจ้าหน้าที่ทางสถานฑูตให้ผ่าน

4. Sponsor ต้องแน่น
มี Sponsor ที่เป็นญาติ มันดีต่อใจ ที่มีคนรับรองฐานะทางการเงินให้คุณ แต่คน ๆ นั้นต้องได้รับรองในฐานะพนักงานบริษัท หรือ สามี ที่จดทะเบียนสมรสอยู่กินกันมานาน หรือแม้ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่เดินทางไปกับลูก ซึ่งคุณสมบัติคุณพ่อและคุณแม่ ต้องโอเคในระดับ แบบรับรองว่าครอบครัวพวกเราไปเที่ยวอเมริกา แล้วจะกลับเมืองไทยแน่นอน

5. ต้องแน่น กับ Sponsor
มี Sponsor เป็นแค่เพื่อน หรือ แฟน ที่อยู่ที่อเมริกา รู้จักกันไม่นาน ทางเจ้าหน้าที่คงตั้งข้อสังเกตว่า คุณอาจจะถูกหลอก หรือ ไปแล้วไม่กลับมาแน่นอน

6. ระยะเวลาการทำงาน
การทำงานของคุณ ต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน เพราะเจ้าหน้าที่เช็คได้จากประกันสังคม เค้าอยากทราบความตั้งใจของคุณจริง ๆ ว่า คุณไปแล้ว จะไม่ไปโดดอยู่ประเทศเค้า

7. ภาระเยอะกลับดี
ยิ่งคุณมีภาระทางการเงินที่ต้องรับผิดชอบ เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ยังผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และมีเครดิตกู้เงิน ทางเจ้าหน้าที่ก็สบายใจว่าคุณกลับมาผ่อนบ้าน ผ่อนรถ คุณแน่นอน ข้อนี้ถือให้ผ่าน

8. Perfect เกินไป
Perfect ทุกอย่าง อะไร ๆ ดิชั้นก็ดีไปหมด รวยมาก ปลอดหนี้ แต่ ไปเที่ยวเป็นผู้หญิงตัวคนเดียว แบบนี้ 50:50 นะคะ เพราะคุณพร้อมจะติดปีก ข้อนี้จะแนะนำว่าคุณเป็นอะไรมาจากไหน ต้องพูดความจริงเพราะทุกคนต้องมีข้อจำกัด อย่างน้อยต้อง 1 ข้อ ไม่มีใครที่จะดีไปทุกอย่าง

9. โกหก พูดไม่ตรงกัน
แม้ว่าคุณจะโกหกอย่างไร ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีวันเชื่อ เพราะประวัติคุณทุกอย่างอยู่ใน Database ของสถานฑูตหมดแล้ว ก่อนคุณจะเข้าไปสัมภาษณ์ ทางเจ้าหน้าที่รู้ประวัติคุณตั้งแต่ส่งเอกสาร Online ไปรอก่อนสัมภาษณ์ซะด้วยซ้ำ

10. บริสุทธิ์ใจ
ความถูกต้องไม่สำคัญเท่าความบริสุทธิ์ใจ และเจตนา ในการไปเที่ยวของคุณไม่มีอะไรซ่อนเร้น เพราะคุณจะตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา ไม่หลบสายตา และไม่ขัดแย้งกับความเป็นจริง อันนี้ถือว่าผ่าน

ทุกอย่างพร้อมแต่วีซ่ายังโดนปฏิเสธ 

ในขณะที่ผู้สมัครวีซ่าบางราย มีเงินในบัญชีหลายสิบล้าน มีหน้าที่การงานดีมาก แถมมีเอกสารรับรองจากบริษัทชัดเจนว่าเราลางานไปท่องเที่ยวเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่กลับถูกปฏิเสธแบบไร้เยื่อใย และไม่มีเหตุผลอธิบายตอบกลับมาว่าเพราะอะไร? ...หากเจ้าหน้าที่สถานทูตไม่อธิบาย ไม่บอก คนที่น่าจะรู้ดีที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตที่ผ่านมานั้นก็คือเจ้าตัวที่เป็นผู้ไปสมัครของวีซ่าเองนั้นแหละ จะด้วยจากการวิเคราะห์ให้โดยคนใกล้ตัว หรือเพราะรู้แก่ใจว่า ที่ผ่านมาอาจจะเคยไปประเทศเขามาแล้ว แต่อยู่เกินเวลาที่ต้องกลับ หรือคนในครอบครัวเคยไปแล้วไม่กลับ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ต้องสำนึกให้ได้เองว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา เพราะ "เจ้าหน้าที่เขาไม่บอก" 

สารพัดเหตุผลที่คุณอาจไม่ผ่านวีซ่าอเมริกา 

1. ถึงจะมีเงินเป็นร้อยล้านในบัญชีธนาคาร แต่อายุเยอะแล้วแต่ยังไม่แต่งงานมีครอบครัว ก็อาจจะไม่ผ่านวีซ่า เพราะอาจเป็นไปได้ที่คุณจะหนีไปอยู่ประเทศเขาฐาวรในช่วงบั้นปลาย ไม่ยอมกลับบ้านช่อง (เจ้าหน้าที่เขามีสิทธิ์คิด) เพราะที่ผ่านมาคนไทยไปโดดวีซ่าในอเมริกามหาศาล 

2. คุณเคยไปเที่ยวอเมริกามาแล้ว แต่ดันใช้ชีวิตอยู่เกินเวลาที่กำหนด คุณ Over Stay 

3. คุณเคยไปเรียนที่นั่นมาแล้วจนจบ และใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นหลายปีจนมีเพื่อนฝูงมีลู่ทางที่อาจจะนำไปสู่การอยู่ต่อยาวๆ เจ้าหน้าที่จึงเห็นว่าการที่คุณไปอยู่มาแล้วตั้งหลายปี น่าจะได้ไปเที่ยวมาทั่วแล้ว ไม่มีเหตุผลจำเป็นต้องไปอีก

4. คุณทำผิดกฎของประเทศเขาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็คงจะไม่รู้จริงๆ นั่นแหละเพราะว่าไม่มีใครเคยบอกมาก่อน 

5. กรอกเอกสารงงๆ เอกสารแต่งเติมขึ้นมาทั้งตั๋วเครื่องบิน และแพลนการไปเที่ยว 

6. ตอบคำถามไม่ตรงกับความเป็นจริง ยิ่งเตรียมตัวเยอะ ยิ่งเกร็งและตอบคำถามผิดๆ ถูกๆ ยิ่งมีพิรุธ มันยิ่งดูไม่เป็นการซื่อสัตย์และถูกจับผิดได้ง่ายๆ จึงไม่แปลกที่คุณจะโกหกแล้วถูกปฏิเสธวีซ่า 

เจ้าหน้าที่ไม่ถูกชะตา จึงใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจว่าผ่าน - ไม่ผ่าน 

ก็อีกนั่นแหละค่ะ ในรีวิวตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็ได้ระบายความในใจระบุไว้ชัดเจนว่า การที่เราจะผ่านวีซ่าหรือไม่ผ่าน อยู่ที่อารมณ์ของเจ้าหน้าที่สถานทูตคนที่เรียกเราไปสัมภาษณ์ด้วย ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่ 1-2 ข้อความ รวมทั้งการบอกปากต่อปากว่า "ถ้าดวงดี ได้เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์ดีๆ ก็จะผ่าน" เกี่ยวกับดวงไหมไม่รู้ แต่น่าเชื่อว่า "ไม่เกี่ยว" เพราะมันอยู่ที่วิจารณญาณ และมุมมองของเจ้าหน้าที่คนนั้นๆ มากกว่า ว่าเค้าคิดเห็นอย่างไรกับประวัติในมือ และการตอบสัมภาษณ์ของแต่ละบุคคล 

หากโดนแบล็กลิสต์อเมริกา จะไม่สามารถเข้าประเทศเขาได้กี่ปี  

สมาชิกพันทิปรายหนึ่ง ให้ข้อมูลไว้ว่าข้อเท็จจริงมีดังนี้ 
1. อยู่เกินวีซ่า Unlawful presence ไม่เกินหนึ่งปี ห้ามเข้าประเทศสามปี เกินกว่าหนึ่งปีห้ามเข้าประเทศสิบปี การนับให้นับจากวันที่เดินทางกลับถึงเมืองไทย เช่น กลับมาถึงวันที่ 1/1/17 เกินสามปีก็นับถึงวันที่ 1/1/20 เป็นต้น

2. ในกรณีแต่งงานกับอเมริกันชน ถ้าอยู่ในอเมริกา สามารถยื่นขอใบเขียวกรีนการ์ดได้เลย ไม่คิดเรื่องการอยู่เกินวีซ่า แต่ถ้ากลับมารอเรื่องและเข้ารับการสัมภาษณ์ในเมืองไทย ก็คงถูกยื่นใบขาวปฏิเสธวีซ่า ต้องทำการกรอกฟอร์ม I-160 เพื่อขอผ่อนผัน ซึ่งในกรณนี้ กงสุลอาจจะแนะนำให้ใช้คำว่าอาจจะ เพราะขึ้นอยู่กับตัวกงสุลว่าวันนั้นท่านมีอารมณ์สุนทรีย์หรือไม่

ตั้งใจทำทุกขั้นตอนให้ดีที่สุด 

อย่างที่บอกไปค่ะว่า ไม่มีอะไรแน่นอนเลย และไม่มีอะไรชัดเจนว่า "หลักการให้ผ่านวีซ่า" ของสถานทูตอเมริกาควรเป็นอย่างไร  และเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่แจกแจงเหตุผลของคนที่เขาปฏิเสธวีซ่า เพื่อที่จะได้คลายกังวลสงสัย ไม่ต้องพยายามทำผิดๆ ถูกๆ ยื่นซ้ำๆ ไปหลายๆ ครั้ง แต่เมื่อเราไม่สามารถควบคุมอะไรตรงนี้ได้ แต่อยากไปเที่ยวประเทศเขา สิ่งที่ต้องทำคือ "ทำหน้าที่ในส่วนของเราให้ดีที่สุด" 

โดยเฉพาะในส่วนของการกรอกใบสมัคร online (DS-160) ใครที่บอกกันว่า "กรอกแค่นี้ผ่านแล้ว" ....ไม่ใช่นะคะ เราต้องตั้งใจกรอกให้ละเอียดถี่ถ้วน กรอกข้อมูลของเราให้ถูกต้อง ครบถ้วนที่สุด เพื่อให้วีซ่าของเรามีโอกาสผ่านมากที่สุด และหากโดนปฏิเสธมาจริงๆ จะได้ไม่ต้องคิดเสียใจทีหลังว่าน่าจะกรอกข้อมูลให้ดี และนี่คือข้อมูล ลิงก์ ตัวอย่าง การกรอกแบบฟอร์ม DS-160 อย่างละเอียด สามารถเข้าไปดู และรอกตามได้เลย  

"ทรัมป์" ยกเลิกแนวทางเรื่องการออกวีซ่ายุครัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา

คำสั่งใหม่ของ 'ปธน.ทรัมป์' ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว และกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ข้อมูลคำสั่งฝ่ายบริหารใหม่ ยกเลิกแนวทางเรื่องการออกวีซ่าในยุครัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้ยกเลิกส่วนของกฎระเบียบที่เคยเปิดทางให้เร่งออกวีซ่าได้สำหรับคนเข้าเมืองหลายกลุ่ม รวมถึงนักเรียนและนักท่องเที่ยว

การเปลี่ยนแปลงนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มการตรวจสอบประวัติบุคคล เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากระบวนการออกวีซ่าจะใช้เวลายาวนานมากขึ้นเท่าใด อย่างไรก็ตาม คำสั่งสมัยประธานาธิบดีโอบามา ระบุให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกสัมภาษณ์ผู้ยื่นขอวีซ่าภายใน 3 สัปดาห์

ผู้ช่วยโฆษกทำเนียบขาว ไมเคิล ชอร์ท บอกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนการกำหนดเงื่อนไขนี้ออกไป และอธิบายเพิ่มว่าประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้กระบวนการออกวีซ่ามีความรอบคอบและถูกต้อง แทนที่จะรีบออกภายใต้เส้นตายที่กำหนดตามแนวทางเดิม สะท้อนถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของประธานาธิบดีทรัมป์ ให้มีการตรวจสอบคนเข้าเมืองด้วยแนวทาง “extreme vetting” เพื่อคัดกรองคนเข้าสหรัฐฯ ด้วยมาตรการรัดกุมขั้นสูงสุด

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร ซึ่งต่อมาถูกศาลสั่งระงับ เรื่องการห้ามประชาชนจากประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า การยกเลิกข้อกำหนดด้านเวลาจากสมัยประธานาธิบดีโอบามา ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น กรณีที่ทางการเห็นว่าเหมาะสมที่จะใช้เวลามากขึ้น ซึ่งรวมถึงการตรวจประวัติด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

ไม่นานนี้ทางการสหรัฐฯ ขยายการตรวจสอบผู้ที่ขอวีซ่า ซึ่งรวมถึงการขอชื่อผู้ใช้ในบัญชีโซเชียลมีเดียช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และข้อมูลประวัติเพิ่มเติมในช่วง 15 ปี ก่อนหน้าการยื่นขอวีซ่าอีกด้วย

ขอบคุณภาพถ่ายจาก Bamkaboy in Boston


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ