ใกล้จะซัมเมอร์กันแล้วนะคะ บางคนทำงานเหนื่อยหนักถึงขั้นที่ว่า ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้หยุดไปเที่ยวไหน ก็ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะหาเวลาช่วงหยุดยาวเดือนเมษายน บินไปพักผ่อนเก็บเกี่ยวความรู้ ความบันเทิงในต่างประเทศ โดยการนำเงินเก็บที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ก่อนจะหาข้อมูลวางแผน และมุ่งตรงไปยังร้านรับแลกเงินสกุลประเทศนั้นๆ ที่ได้เรตราคาดีๆ ซึ่งปัจจุบัน คนทั่วไปที่ไม่ได้เดินทางต่างประเทศบ่อยๆ อาจจะต้องไปตามคำชี้นำของคนใกล้ตัว หรือกระแสที่เขาลือ เขาเล่าว่า "เรตดี" โดยที่ไม่ได้หาข้อมูลให้ลึกซึ้งด้วยตัวเอง
"สติค่ะสติ"...เงินทุกบาทมีค่า ยิ่งจะเอาไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นที่จะกดให้ค่าเงินเราต่ำลงไปอีก ยิ่งต้อง #คิดสิคิด ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ นำข้อมูลสิ่งที่คุณควรรู้ ก่อนมุ่งตรงไปแลกเงิน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลา และเสียรู้ ...เอาเป็นว่าตามมาดูข้อมูลกันดีกว่าค่ะ
สถาบันการเงิน ธนาคารเกือบทุกแห่งทั่วประเทศไทย รองรับการแลกเงินสกุลต่างประเทศ รวมไปถึงร้านรับแลกเงิน หรือบูธรับแลกเงินตามสนามบินหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เรตราคาสูงต่ำเหลื่อมล้ำแตกต่างกันอย่างไรต้องเช็กดูให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจนำเงินไปแลก เช่นตามเว็บไซต์ของธนาคาร หรือบริษัท หรือร้านรับแลกเงินซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายแห่ง ใช้เวลาดูให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะทุกร้านมักจะโฆษณาเหมือนๆ กันว่า ร้านของตัวเอง "เรตดีสุด" ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะยังเชื่อถือไม่ได้ ควรต้องเข้าไปเปรียบเทียบด้วยตัวเอง
ตามเว็บไซต์ร้านแลกเงิน เว็บไซต์ของธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ หรือในแอปพลิเคชันก็มีผู้ให้บริการอยู่มากมาย ทั้งนี้เราขอแนะนำให้หมั่นเช็กอัตราแลกเปลี่ยนเงินในทุกๆ วันได้ก็จะเป็นการดี เพราะอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั่นเอง เช่น ร้านแลกเงิน Grand Superrich หรือ ร้านแลกเงิน
Value Plus Currency Exchange ฯลฯ และอีกมากมายหลายสีหลายยี่ห้อ ที่นักเดินทางนิยมใช้บริการ
เมื่อเราเข้าไปเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มองหาช่องที่มีคำว่า Buying และ Selling เพราะทั้งสองช่องนี้คือจุดแสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หากว่ากันแบบง่ายๆ
Selling คือ ราคาที่ธนาคารหรือร้านแลกเปลี่ยน “ขาย”
เข้าใจง่ายๆ คือ เราเอาเงินไทยไปแลกเงินต่างประเทศ
Buying คือ ราคาที่ธนาคารหรือร้านแลกเปลี่ยน “รับซื้อ”
เข้าใจง่ายๆ คือ เราเอาเงินต่างประเทศไปแลกเงินไทย
"วิธีการคำนวณเงินที่จะแลกเปลี่ยนแบบง่ายๆ"
หากต้องการนำเงินไทยไปคิดเป็นเงินต่างประเทศ ให้เอาเรตอัตราแลกเปลี่ยนไป “หาร” เสมอ
หากต้องการนำเงินต่างประเทศมาคิดเป็นเงินไทย ให้เอาเรตอัตราแลกเปลี่ยนไป “คูณ” เสมอ
คุณนิสารัตน์ ประกาศสอน บรรณาธิการข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ให้ข้อมูลกับเราว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นำเงินสกุลต่างๆ มักจะแลกในบูธของสนามบิน เพราะสะดวกและง่าย ซึ่งมีทั้งของธนาคารและของร้านรับแลกเอกชน ขอแนะนำว่า คนไทยที่วางแผนจะไปเที่ยวต่างประเทศ ต้องศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบเรตราคาสกุลเงินที่ต้องการจะแลกใหัชัดเจนก่อนว่าที่ไหนคุ้มสุด เพราะปัจจุบันมีมากมายหลายร้าน สามารถเข้าเว็บไซต์ไปเช็กได้ บางสกุลเงินเรตร้านเล็กๆ ก็ดีกว่า แต่ลูกค้าอาจมองข้ามเพราะไม่มีชื่อเสียง ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ทำให้ตัวเองเสียโอกาสในการเลือกและได้เรทที่ดีจริงๆ ตามความคาดหวัง
"หากเราอยากจะได้เรตดีจริงๆ ไม่จำเป็นว่าต้องแห่กันไปยังร้านชื่อดังหรือเป็นที่นิยม ควรเช็กราคาให้แน่ชัดมากกว่าว่าสกุลเงินที่ต้องการแลกร้านไหนให้เรตดี เพราะหากแลกจำนวนเยอะๆ คุณจะขาดทุนจนน่าเสียดาย ตรวจสอบว่าร้านไหนที่ให้เรตดีสุดก็ไปร้านนั้นค่ะ แต่หากเราต้องการความสะดวกสบายรวดเร็ว เดินทางสะดวกโดยไม่คำนึงถึงเรท แบบนั้นแลกที่ไหนก็ได้ ซึ่งคนส่วนมากนิยมไปร้านที่มีสาขาเยอะๆ หลายๆ จุด"
คุณนิสารัตน์ บอกเราด้วยว่า ใครที่ต้องการเดินทางไปแลกเงินในสนามบิน หากกมีเวลาเพียงพอ ควรเดินดูให้ทั่วหลายๆ ร้าน เพราะจะมีจอแสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ โชว์อยู่ ถึงแม้ค่าเงินมันจะไม่แตกต่างกันมาก แต่หากแลกจำนวนเยอะๆ มันก็อาจทำให้เราเสียผลประโยชน์ไม่น้อยเลย ดังนั้นความละเอียดรอบคอบในการหาข้อมูลสำคัญที่สุด อย่าเพิ่งไปหลงกระแสตามคนอื่น เพราะการที่เราจะกระจุกต่อคิวกันยาวๆ ร้านใดร้านหนึ่งอาจทำให้เสียเวลา เมื่อตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่า ร้านที่ต่อคิวยาวจริงๆ ให้เรตเงินดีตามสกุลที่ต้องการแลก ก็ตัดสินใจได้เลย
"ต้องยอมรับว่าประเทศไทย เป็นเมืองท่องเที่ยว ต่างชาติเอาเงินสกุลต่างๆ เข้ามาใช้ในไทย ซึ่งก็ต้องทำการแลกก่อน จุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้าดังเช่น ร้านแลกเงินในสยามพารากอน ร้านแลกเงินในเซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ หรือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนข้าวสาร ถนนสีลม ร้านแลกเงินซอยธนิยะ ทองหล่อ เอกมัย สะพานควาย เยาวราช รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเมืองหลวงล้วนแล้วแต่มีสถานที่แลกเงินทั้งสิ้น ส่วนตามจังหวัดใหญ่ๆ ร้านแลกเงินเริ่มผุดขึ้นมาจำนวนไม่น้อย จากเมื่อก่อนชาวบ้านไปแลกเงินในธนาคาร แต่เดี๋ยวนี้มีให้เลือกมากขึ้น"
คุณนิสารัตน์ ทิ้งท้ายไว้ว่า สำหรับตนเองเวลาจะแลกเงินเดินทางไปต่างประเทศ อันดับแรกเราต้องดูว่าจะไปประเทศไหน ก็จะเตรียมตัวโดยการ เช็กค่าเงินทั้งของเขาของเรา เลือกดูร้านแลกเงินที่คุ้มค่าที่สุดแล้วก็ไปแลก ซึ่งก็ต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวันเปรียบเทียบกันดู คิดว่าควรมีการวางแผนก่อนไปแลก แต่ถ้าฉุกละหุกจริงๆ และต้องเอาเงินไปแลกที่สนามบิน จะเดินสำรวจราคาแต่ละร้านก่อน แล้วตัดสินใจแลก โดยไม่อิงกระแส แต่จะเอาความคุ้มค่าที่ตนเองได้รับ
จำไว้อย่างหนึ่งว่า ถึงแม้คุณจะมือเงินในมือหลักแสนหลักล้าน ก็ไม่ใช่ว่าเดินถือเข้าไปแลกเงิน ร้านไหน สาขาใดก็ได้ เพราะถือว่าผิดกฎกติกานะคะ คุณต้องมี passport หรือหนังสือเดินทางของตัวคุณเองถือไว้ในมือ คุณสามารถเดินทางไปซื้อเงินสกุลต่างประเทศได้ตามร้านค้าที่ให้บริการ จากนั้นก็ทำตามขั้นตอนนี้
1.เช็กอัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้ง ตามร้านค้าที่ให้บริการจะมีป้ายระบุราคาของสกุลเงินต่างๆ
2.หากเป็นร้านที่เป็นสาขาใหญ่ หรือธนาคารต่างๆ คุณต้อง กดบัตรคิว เข้าคิวรอเรียก
3.เมื่อถึงคิวลำดับของคุณ ก็ยื่น passport ให้พนักงานถ่ายเอกสาร
4.ตรวจนับเงินในมือ แล้วบอกจำนวนเงินที่ต้องการแลกให้ชัดเจน ก่อนส่งเงินให้พนักงาน
5.เมื่อรับเงินสกุลที่แลกมาแล้ว ตรวจเช็กจำนวน และเช็กว่าธนบัตรไม่อยู่ในสภาพที่ขาดหรือชำรุด
แต่ถ้าคุณไม่อยากได้เรตดี แต่ไม่อยากต่อคิวรอนานๆ เดี๋ยวนี้ตามร้านรับแลกหลายสาขาเค้ามีให้โทรจอง และบริการส่งเงินให้ถึงที่ เช่น Value Plus หรือ เรทแลกเงินรวมทุกธนาคาร เช็กค่าเงินธนาคารที่เราต้องการจะแลกเงินก่อน จากนั้นโทรไปสอบถามรายละเอียด ซึ่งก็มีบริการให้โทรไปแลกเปลี่ยนเงินได้ มีทั่งไปส่งถึงสนามบิน และนัดรับตามสาขาต่างๆ ที่เราสะดวกไปรับเงินให้ชัดเจนด้วย
รศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้คำตอบไว้ใน เว็บไซต์ลงทุนศาสตร์ อย่างน่าสนใจว่าการจะเข้าใจกลไกราคาแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างร้านรับแลกเงินกับธนาคารพาณิชย์ควรศึกษาแบบจำลององค์ประกอบของ Huang and Stoll
แบบจำลอง Huang and Stoll คือแบบจำลองที่ใช้อธิบายการกำหนดราคาซื้อขายสินค้าที่ไม่รู้ราคาชัดเจน (เช่น ค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น) แบบจำลองมองว่า Market Maker หรือผู้รับแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นไม่ทราบราคาที่แท้จริงและจะกำหนดราคาซื้อขายโดยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยด้วยกัน
1. ต้นทุนจากการซื้อขายกับนักลงทุนที่ทราบข้อมูลมากกว่า (Adverse Selection) การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ไม่มีราคากำหนดตายตัว ราคาเคลื่อนไหวได้ และแลกเปลี่ยนง่ายอาจนำมาซึ่งการเก็งกำไรมากกว่าการแลกเปลี่ยนเพื่อนำสินทรัพย์ไปใช้ประโยชน์จริง ผู้รับแลกเปลี่ยนคนกลางอาจเจอปัญหาการเก็งกำไรจากลูกค้าจนนำมาซึ่งการขาดทุนได้ ยกตัวอย่างเช่น การลอยตัวของค่าเงินในวิกฤตต้มยำกุ้ง ผู้บริหารกองทุนต่างชาติหรือนักเก็งกำไรที่มองภาพการไร้เสถียรภาพของค่าเงินออกแล้วทำการนำเงินบาทมาแลกเป็นเงินดอลล่าร์ หรือทำการชอร์ต (short) ค่าเงินบาทไทยก็จะได้รับกำไรอย่างมากมายมหาศาล และนี่คือความเสี่ยงที่ผู้แลกเปลี่ยนคนกลางต้องแบกรับ
ธนาคารพาณิชย์ จะมีต้นทุนตรงนี้สูงกว่าร้านรับแลกเปลี่ยนเงินทั่วไปเสมอ เนื่องจากร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรามักจะให้บริการเฉพาะรายย่อย เช่น นักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าที่รับสกุลเงินต่างชาติจำนวนไม่มาก แต่ถ้าสมมติเราอยากจะแลกเงินดอลสักสิบล้าน ร้านเหล่านี้มักจะไม่ให้ ถึงแม้ว่าจะมีเงินพอก็ตาม เพราะมีความเสี่ยงจาก Adverse Selection สูง ในขณะที่ธนาคารหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมักจะต้องทำธุรกรรมการซื้อขายล่วงหน้าค่าเงินอยู่เสมอ ทั้ง forward และ option เพื่อให้บริการกับลูกค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับนำเข้าส่งออก
2. ต้นทุนจากการถือครอง การแลกเปลี่ยนเงินตราถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพราะการมีเงินสกุลต่างๆ เก็บไว้อาจจะทำให้เกิดกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินได้ ดังนั้น คนกลางจำเป็นต้องกันต้นทุนส่วนหนึ่งไว้เพื่อชดเชยความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นแน่นอนว่าความเสี่ยงที่เกิดย่อมมากตามจำนวนเงินตราสกุลต่างๆ ที่ทำการรักษาไว้ โดยทั่วไป ธนาคารพาณิชย์มักมีเงินสกุลอื่นอยู่ในคลังมากกว่าร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรา จึงทำให้ต้นทุนในการรักษาความเสี่ยงตรงนี้สูงกว่านั่นเอง
3. ต้นทุนจากการดำเนินงาน สุดท้าย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งคือต้นทุนในการดำเนินงาน หากต้นทุนมากค่าใช้จ่ายมาก ระยะห่างระหว่างอัตราขายและรับซื้อก็ต้องกว้างมากขึ้นเพื่อนำส่วนต่างมาชดเชยในต้นทุน โดยทั่วไป ธนาคารพาณิชย์จะมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงกว่า เห็นได้ชัดจากการทำการตลาด การมีสาขาจำนวนมาก การต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์รองรับผู้ใช้บริการ ในขณะที่ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นส่วนใหญ่จะใช้งบตรงนี้น้อยกว่ามาก การทำการตลาดไม่รุนแรง สาขาไม่มากเท่าธนาคาร เน้นการแข่งขันที่ราคาถูกและการบอกเล่าปากต่อปากมากกว่า ต้นทุนตรงส่วนนี้จึงถูกกว่าไปโดยปริยาย
อัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่มีเหตุผลเบื้องล่างรองรับอยู่มากมาย โดยเฉพาะการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจนนำมาซึ่งภาวะวิกฤติทางการเงินได้ มองในอีกมุมหนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารพาณิชย์กว้างกว่าปกติก็อาจจะนำมาซึ่งความสบายใจอย่างหนึ่งว่าการเก็งกำไรค่าเงินโดยใช้เงินก้อนใหญ่ก็ทำได้ยากและวุ่นวายกว่าสมัยก่อนพอสมควร
ไปเที่ยวกลับมาแล้ว แต่เผอิญใช้เงินไม่หมด ถ้าอยากแลกกลับคืนเป็นเงินไทยก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ต้องพกบัตรประชาชนไปที่ร้านค้าหรือธนาคารที่ให้บริการด้วยทุกครั้ง ก็สามารถแลกเงินต่างประเทศกลับคืนเป็นเงินไทยได้สบายๆ ค่ะ
แต่เดี๋ยวก่อน...มันมีเคล็ดลับที่เขาบอกต่อกันมาว่า แลกเงินกลับยังไงให้คุ้ม? เพราะกูรูหลายท่านในโลกโซเชียล ได้ให้คำแนะนำไว้หลายวิธี แต่ที่นิยมทำกันส่วนใหญ่คือ "จะแลกเงินบาทไทยเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯก่อน" จากนั้นจึงนำเงินดอลลาร์ไปแลกเป็นสกุลเงินที่เราต้องการใช้ (ว่ากันว่าถ้าอยากแลกเงินวอนของเกาหลี ใช้วิธีนี้จะคุ้มที่สุด) แต่ให้ทยอยแลก อย่าแลกไว้ทั้งหมด เพราะถ้าเงินเหลือก็ให้เหลือกลับมาเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯดีกว่า เพราะแลกคืนเป็นเงินบาทไทยแล้วถือว่าขาดทุนน้อยค่ะ
เราขอแนะนำให้ท่าน หมั่นเช็กอัตราแลกเปลี่ยนเงินในทุกๆ วัน เพราะอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเปิดเข้าไปได้เรื่อยๆ บ่อยๆ นอกจากนี้แล้วในแต่ละธนาคาร สถาบันการเงิน รวมถึงสถานที่รับแลกเปลี่ยนเงินอื่นๆ ก็มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่ากัน เราจึงควรลองหาข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเงินในแต่ละแห่งมาเปรียบเทียบกัน เพื่อหาดูว่าการแลกเปลี่ยนเงินกับที่ใดนั้น จะทำให้เราได้รับความคุ้มค่ามากที่สุด อย่าเพิ่งไปตามกระแสนิยม หรือกระแสโฆษณาใดๆ เลือกเอง แลกเอง เอาทั้งบริการดีคุ้มค่า ราคาประหยัด
ขอบพระคุณภาพจากเฟชบุ๊กร้านแลกเงิน k79exchange , Value Plus Currency Exchange,money exchange,TWELVE VICTORY