น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขนาดรูปร่างคนไทย ซึ่งเป็นการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานชาย-หญิงไทย อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 13,442 ราย ในพื้นที่ 5 ภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการออกแบบ และพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวกับร่างกาย เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ต่างๆ เช่น เก้าอี้ ที่นอน โต๊ะ เพราะที่ผ่านมา การออกแบบสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสรีระคนไทย จะใช้มาตรฐานต่างประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐฯ ทำให้ไซส์เสื้อผ้า หรือเฟอร์นิเจอร์ไม่ได้มาตรฐานคนไทย
“เสื้อผ้า หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบ เพื่อให้คนไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่อ้างอิงจากไซส์ต่างประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐฯ ทำให้ไซส์เสื้อผ้า แขน ขา ชายเสื้อยาว ต้องคอยตัดออก หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ทำงาน บางอันสูงไป ทำให้เมื่อย หรือทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้ ต่อไปหากผู้ผลิตเสื้อผ้า หรือเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นการผลิตและจำหน่ายในประเทศ สามารถนำมาตรฐานขนาดรูปร่างไปใช้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการออฟฟิศซินโดรมลดลงได้ และไม่ต้องสิ้นเปลืองในการปรับแต่งเสื้อผ้า”
สำหรับขั้นตอนการมีผลบังคับใช้นั้น ต้องรอประกาศในราชกิจจาฯ จากนั้นจะประกาศใช้ได้อย่างเป็นทางการ โดยมาตรฐาน กมอ.ขนาดรูปร่างคนไทย จะแบ่งเป็นผู้ชาย และผู้หญิง เป็นมาตรฐานทั่วไป ส่วนวิธีการวัดขนาดนั้น ได้ใช้เทคโนโลยีตรวจวัดเรือนร่างสามมิติ จากกลุ่มตัวอย่าง 13,442 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 6,303 ราย และเพศหญิง 7,139 ราย ใช้เครื่องสแกนสามมิติด้วยแสงขาว วัดสัดส่วนต่างๆ เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ความกว้างขนาดศีรษะ ระยะห่างตา ความยาวมือ รอบเท้า ความยาวเท้า จากนั้นนำมาวิเคราะห์คำนวณกำหนดเป็นไซส์ไทย โดยขนาดรูปร่างหญิงไทย เช่น ไซส์ 28 รอบอก 69.0-74.0 เซนติเมตร (ซม.) รอบเอว 57.0-62.0 ซม. รอบสะโพก 75.0-80.0 ซม. ไซส์ 30 รอบอก 74.0-79.0 ซม. รอบเอว 62.0-67.0 ซม. รอบสะโพก 80.0- 85.0 ซม. เป็นต้น.