...ครองตำแหน่ง “ซุปเปอร์จัมโบ้” เครื่องบินโดยสารลำใหญ่ที่สุดของโลก ศักยภาพลำเลียงผู้โดยสารพร้อมกันคราวเดียวมากกว่า 500 ถึงกว่า 800 คน ขึ้นอยู่กับนโยบายสายการบินแต่ละแห่งกำหนดรูปแบบพื้นที่ใช้สอย
“ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์ เอ 380” ห้วงเวลาผ่านพ้น “แอร์บัส เอ 380” เปิดตัวครั้งแรกที่บ้านเกิดเมืองตูลูสในฝรั่งเศสเมื่อ 18 ม.ค. ปี 2548 และได้รับใบประกาศรับรองขึ้นบินเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ 12 ธ.ค.ปี 2549
ระยะเวลาดำเนินการบินราว 13 ปี “แอร์บัส” เพิ่งประกาศเตรียมยุติสายการผลิต “เอ 380” ภายในปี 2564 หลัง ส่งมอบเครื่องบินระลอกสุดท้ายให้ลูกค้า เหตุเพราะยอดสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้มากราว 1,200 ลำ ตลอดช่วงเวลา 20 ปีข้างหน้า แต่ยอดสั่งซื้อกลับมีเพียง 313 ลำ ส่งมอบลูกค้าแล้ว 234 ลำ
ปัญหาอุปสรรคมากมายที่ส่งผลให้ยอดขาย ยอดสั่งประกอบ “เอ 380” ไม่อู้ฟู่เฟื่องฟู เพราะ “ใหญ่แต่ไม่ตอบโจทย์คุ้มทุน” นอกจากเอ 380 ราคาแพงระยับ ลำละราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 16,500 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาสูง บริโภคเชื้อเพลิงมาก แม้ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นรุ่นใหม่ประหยัดเชื้อเพลิง แต่ด้วยพลังขับดัน 4 เครื่องยนต์ ความสิ้นเปลืองก็ไม่น้อย
ผนวกปัญหาเที่ยวบินผู้โดยสารไม่เต็มลำยิ่งกระทบผลประกอบการของแต่ละสายการบินที่มีเที่ยวบินเอ 380 แถมยังต้องใช้สนามบินหลักขนาดใหญ่บินขึ้นลง อีกทั้งโรงเก็บและงวงจอดเครื่องบินรุ่นนี้ต้องใหญ่พิเศษ แทบทุกสายการบินจึงเปลี่ยนหันมามองเครื่องบินโดยสารขนาดกลางและขนาดเล็กเทคโนโลยีสูงขึ้นมาใช้มากกว่า...
10 เส้นทางบิน “แอร์บัส เอ 380” ที่ได้รับความสนใจจากชาวโลกมากที่สุด
ด้วยสถานะ “เที่ยวบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรก” สายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ ประเดิมเที่ยวบิน เอ 380 สิงคโปร์-ซิดนีย์ เมื่อ 25 ต.ค.ปี 2550 บนเที่ยวบิน “ซุปเปอร์จัมโบ้” ของสิงคโปร์มีห้องผู้โดยสาร “เฟิสต์ คลาส” สมบูรณ์แบบด้วยห้องนอนเตียงคู่ บริการดีเหนือกว่าโรงแรมระดับ 5 ดาว
สายการบินเอมิเรตส์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลูกค้าเอ 380 รายใหญ่ที่สุด ครอบครองแล้วมากกว่า 108 ลำ รอรับมอบอีกหลายสิบลำ เที่ยวบินดูไบ-โอ๊กแลนด์ ระยะทาง 14,193 กม. ใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมง ผู้โดยสารชั้น “เฟิสต์ คลาส” มีห้องอาบน้ำส่วนตัว
ใช้เวลาบินเดินทาง 7 ชั่วโมง 40 นาที จากเมืองหลวงอังกฤษไปสนามบินนครบอสตัน เมืองเอกรัฐแมสซาชูเสตต์ในสหรัฐฯ เที่ยวบินนี้เน้นความสะดวกสบายของผู้โดยสารส่วนใหญ่ชั้นประหยัด
เที่ยวบินจากดินแดนผู้ผลิตประกอบ “แอร์บัส เอ 380” ไปสู่มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ “แอร์ ฟรานซ์” ครอบครองเครื่องบินโดยสารรุ่นยักษ์นี้ 10 ลำ ไม่มีแผนเพิ่มอีก หากยังจะลดลงเหลือ 5 ลำในอนาคตอันใกล้...
สายการบินอื่นๆเล็งลดเที่ยวบิน “เอ 380” แต่สายการบินของญี่ปุ่น “ออล นิปปอน” กลับสวนกระแส เตรียมประเดิมเที่ยวบิน “โตเกียว-โฮโนลูลู” ตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีนี้ พร้อมรูปลักษณ์ตกแต่งเครื่องบิน 3 ลำ ลวดลายสีสันสดใสเข้ากับบรรยากาศเที่ยวทะเลฮาวาย
เที่ยวบินจากเยอรมนีสู่นครเซี่ยงไฮ้ เน้นความสะดวกสบายระหว่างการเดินทางด้วยระบบปรับความชื้นภายในห้องผู้โดยสาร ติดตั้งฉนวนเก็บเสียงอย่างดี ระบบกรองฟอกอากาศสะอาดตลอดการเดินทาง
ถือเป็นเส้นทางบินแรกของ “แอร์ เอมิเรตส์” บินตรงจากนคร รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปภูมิภาคละตินอเมริกาที่หมายนครเซา เปาโล ของบราซิล เที่ยวบินนี้ “เฟิสต์ คลาส” หรูหรา อลังการมากถึง 14 ห้อง ชั้นนักธุรกิจนอนราบ 180 องศา จำนวน 76 ที่นั่ง กับชั้นประหยัดแบบพิเศษ 401 ที่นั่ง
แม้ “เควนตัส” ยกเลิกคำสั่งซื้อเพิ่มเติม “แอร์บัส เอ 380” แต่ย้อนกลับไปปี 2551 ชั้นผู้โดยสาร “เฟิสต์ คลาส” ของเควนตัสบนเอ 380 ได้รับการยอมรับโดดเด่นสะดวกสบายมากที่สุดเที่ยวบินหนึ่งตลอดช่วงเวลาการเดินทางไกลม้วนเดียวจบ 9 ชั่วโมง 15 นาที
เที่ยวบิน “เอ 380” ของสายการบินแห่งชาติเกาหลีใต้ “โคเรียน แอร์” จากกรุงโซลไปนครแอตแลนตา รัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ เน้น “ดื่มกิน” ตลอดเส้นทางบินกับ “บาร์บนฟากฟ้า”-- Celestial Bar
สายการบินแห่งชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาติมหาเศรษฐีของโลก เที่ยวบิน เอ 380 ของ “เอทิฮัด” ต้องไม่ธรรมดา ชั้น “เฟิสต์คลาส” มีห้องนั่งเล่น โทรทัศน์จอใหญ่ 2 เครื่อง มีบริกรส่วนตัว
ใครมีโอกาสได้เดินทางด้วย “แอร์บัส เอ 380” ควรไขว่คว้าประสบการณ์ครั้งหนึ่งของชีวิต แม้อายุการใช้งาน “เอ 380” ยาวนานมากกว่า 20 ปี แต่ท้ายที่สุดแล้วเครื่องบินโดยสารรุ่นยักษ์ “ก็ต้อง ปิดฉาก” กลายเป็นอีกตำนานการบินเหมือนเครื่องบินโดยสารไอพ่นความเร็วเหนือเสียง “คองคอร์ด” อำลาการบินเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2000...
โหรกระแส