อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ ชูแพลตฟอร์มเด่น จับคู่ธุรกิจกับแหล่งทุนเอกชน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ ชูแพลตฟอร์มเด่น จับคู่ธุรกิจกับแหล่งทุนเอกชน

Date Time: 1 มี.ค. 2562 14:55 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ ชูแพลตฟอร์มเด่นด้านจับคู่ธุรกิจกับแหล่งทุนช่วยเหลือภาคเอกชน พร้อมโชว์เคสสานต่อธุรกิจ SME ไทยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทย

Latest


อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ ชูแพลตฟอร์มเด่นด้านจับคู่ธุรกิจกับแหล่งทุนช่วยเหลือภาคเอกชน พร้อมโชว์เคสสานต่อธุรกิจ SME ไทยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทย

วันที่ 1 มี.ค. อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้บริการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนาธุรกิจภาคเอกชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการให้บริการนวัตกรรมครบวงจรแบบ Total Innovation Solutions โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแม่ข่ายดำเนินงาน จับคู่ธุรกิจกับแหล่งทุน (Business Matching and Funding) หนึ่งในการให้บริการจากอุทยานฯ ผ่านโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน ในพื้นที่ (IRTC) เพื่อยกระดับความสามารถทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ SME พร้อมเปิดกว้างให้กับ SME ไทยที่มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมรับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสูงสุดถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องสำรองเงินก่อน

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) กล่าวในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือว่า อุทยานฯ ได้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านจับคู่ธุรกิจกับแหล่งทุนในโครงการดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2556 ผ่าน 7 มหาวิทยาลัย ในเครือข่ายอุทยานฯ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม่โจ้ แม่ฟ้าหลวง พะเยา นเรศวร ราชภัฏพิบูลสงคราม และ ราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยสามารถช่วยพัฒนาขีดความสามารถของภาคเอกชนไปแล้วจำนวน 380 ผลงาน สามารถสร้างมูลค่าการลงทุนทำวิจัยของภาคเอกชนได้กว่า 123 ล้านบาท เกิดการขยายหน่วยงานวิจัยในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจำนวน 54 แห่ง เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 169 อัตรา และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่พัฒนาเพิ่มขึ้นจากโครงการได้ประมาณ 310 ล้านบาท

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ กล่าวเพิ่มเติมโดยยกเคสตัวอย่างการพัฒนาต่อยอดธุรกิจผ่านโครงการ IRTC แก่ บริษัท กรีนไดมอนด์ จำกัด หรือ บุญสมฟาร์มเอกชนผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทยรายแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.สุทัศน์ สุระวัง อาจารย์สังกัดสาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทย โดยเกิดเป็นผลผลิตนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสาหร่ายชนิดนี้ ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขบเคี้ยวจากธัญพืชอบกรอบผสมสาหร่ายเกลียวทองที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลายและในปริมาณสูง ภายใต้แบรนด์ “UNO Ball” พร้อมวางกลุ่มเป้าหมายเพื่อเป็นอาหารเสริมพลังงานให้กับผู้ทำกิจกรรมกลางแจ้งและกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยวางจำหน่ายที่ร้าน บุญสมฟาร์มและร้านกรีนคัพ จ.เชียงใหม่ ในระยะแรก ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มแก่เจ้าของธุรกิจได้กว่า 20,000 บาท/เดือน และอนาคตมีแผนการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังกลุ่ม Modern Trade และตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบัน บริษัท กรีนไดมอนด์ จำกัด ได้ร่วมโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทย ร่วมกับ ผศ.ดร.ยิ่งมณี ตระกูลพัว อาจารย์สังกัดสาขาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยข้อมูลการวิจัยเผยว่า จากการวิเคราะห์และทดสอบด้วยวิธี DPPH radical scavenging assay พบว่า สารสกัดจากสาหร่ายเกลียวทองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี โดยปริมาณสารสกัดสาหร่ายเกลียวทอง 1.21 mg. สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ (จากการเปรียบกับ Gallic acid ซึ่งเป็นสารมาตรฐานที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ) และยังช่วยลดการอักเสบของผิว เพราะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง Nitric oxide (NO) จากเซลล์ที่เกิดการอักเสบได้ ทั้งนี้ จากผลวิจัยดังกล่าว บริษัทฯ จึงแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มไปยังกลุ่มเครื่องสำอางบำรุงผิวด้วยสารสกัดสาหร่ายเกลียวทอง (Spirogel) และจากการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 50 คน พบว่า มีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันอยู่ในช่วงการจดทะเบียนเป็นเวชสำอางพร้อมทดสอบตลาดและวางแผนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยหวังว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์และเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้กับผู้บริโภคในตลาดสากลได้ด้วยผลงานจากนวัตกรรมไทย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ