ครม.เปิดหวูดประมูลสายสีแดงเข้ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.เปิดหวูดประมูลสายสีแดงเข้ม

Date Time: 27 ก.พ. 2562 08:13 น.

Summary

  • ครม.อนุมัติโครงการ “รถไฟฟ้าสีแดงเข้ม รังสิต-ธรรมศาสตร์ และตลิ่งชัน-ศาลายา” พร้อมเดินหน้าเสนอ ครม.ต่อสัปดาห์หน้าอีก 2 เส้น “ตลิ่งชัน-ศิริราช”

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“อาคม” ลั่นเห็นในรัฐบาลนี้ “รถไฟฟ้า” มาครบ 10 สาย

ครม.อนุมัติโครงการ “รถไฟฟ้าสีแดงเข้ม รังสิต-ธรรมศาสตร์ และตลิ่งชัน-ศาลายา” พร้อมเดินหน้าเสนอ ครม.ต่อสัปดาห์หน้าอีก 2 เส้น “ตลิ่งชัน-ศิริราช” ขณะที่เส้น “บางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก” เริ่มก่อสร้างแน่ปีนี้ ด้าน “อาคม” ลั่นปิดจ๊อบสร้างรถไฟฟ้าครบ 10 สายทางในรัฐบาลนี้ จ่อเข็นรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ สายสุดท้ายเข้า ครม.ให้ได้ไม่เกินกลางเดือน มี.ค.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม 2 โครงการ ประกอบด้วย ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.4 กม. มูลค่า 6,570.4 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะเปิดประมูลเดือน มี.ค.-เม.ย.62 นี้ และจะต้องได้ตัวผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้างภายในสิ้นปี 62 ซึ่งตามแผนต้องก่อสร้างเสร็จเปิดใช้งานได้ปี 65

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. งบประมาณ 6,645.03 ล้านบาทนั้น เตรียมเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า นอกจากนั้น ในส่วนของรถไฟชานเมือง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัยนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบและสำรวจเส้นทางใหม่ เนื่องจากเส้นทางเดิมยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับแนวเส้นทางใหม่ อย่างไรก็ตามจะต้องสรุปให้ได้ในรัฐบาลชุดนี้

นายอาคม กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ, บางซื่อ-รังสิต ที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จมานานแล้วและยังไม่มีการเปิดให้บริการนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และระบบจ่ายไฟ โดย รฟท.จะรับขบวนรถเข้ามาเดือน พ.ค.-มิ.ย.63 และจะเริ่มทดลองระบบรถในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.63 และทดสอบเสมือนจริงในช่วง ก.ย.-ต.ค.-พ.ย.-ธ.ค.63 และเปิดให้บริการจริงในเดือน ม.ค.64

ขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินการในช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก หรือที่เรียกว่า มิสซิงลิงก์ ซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไปทำให้ขาดการเชื่อมต่อของรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้งเส้นนั้น ความล่าช้าที่เกิดขึ้น เนื่องจากได้มีการปรับแบบให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทำให้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 62 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์นั้น ในขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) คาดว่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติภายในกลางเดือน มี.ค.62 นี้

“จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้พยายามเร่งผลักดันโครงการระบบรางให้ผ่าน ครม. โดยเมื่อนำรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์เข้า ครม.ภายในกลางเดือน มี.ค.นี้ รถไฟฟ้าจะมีการก่อสร้างครบทั้ง 10 สายทางพอดี”

ขณะเดียวกัน ในการประชุม ครม.ครั้งนี้ ยังได้อนุมัติแผนของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 โดยพลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.ได้มีการปรับเพิ่มวงเงินก่อหนี้ 23,018.81 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนการก่อหนี้จากรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 21,128.46 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องขออนุมัติ ครม.อีก 1,890.35 ล้านบาท ทำให้แผนการก่อหนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.828 ล้านล้านบาท เป็น 1.851 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญจากแผนการกู้เงิน เพื่อลงทุนในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยง กรุงเทพฯ-หนองคายระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 32,774.62 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้เพิ่มเติมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้บรรจุไว้ในแผนการก่อหนี้สาธารณะเดิม โดยได้เพิ่มเติมอีก 6 รายการ เป็นเงิน 28,291.45 ล้านบาท เช่น โครงการเงินกู้เพื่อรองรับการดำเนินงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประเมินหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2562 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 42.70% เพิ่มขึ้นเป็น 43.32% แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง เนื่องจากหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังไม่เกิน 50%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ