เอกชนคาดส่งออกได้แค่ 3% พาณิชย์ดิ้นหามาตรการเสริมดันโตตามเป้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอกชนคาดส่งออกได้แค่ 3% พาณิชย์ดิ้นหามาตรการเสริมดันโตตามเป้า

Date Time: 26 ก.พ. 2562 08:30 น.

Summary

  • “พาณิชย์” ลุยหามาตรการเสริมหนุนส่งออกปีนี้ หวังให้โตตามเป้า 8% แต่เอกชนยันโตได้แค่ 3% เหตุบาทแข็งพ่นพิษ พร้อมจี้รัฐชะลอขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำออกไป 1 ปี หวั่นกระทบต้นทุนเอกชน ซ้ำเติมส่งออก

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“พาณิชย์” ลุยหามาตรการเสริมหนุนส่งออกปีนี้ หวังให้โตตามเป้า 8% แต่เอกชนยันโตได้แค่ 3% เหตุบาทแข็งพ่นพิษ พร้อมจี้รัฐชะลอขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำออกไป 1 ปี หวั่นกระทบต้นทุนเอกชน ซ้ำเติมส่งออก ขณะที่ ธปท.หนุนใช้เงินสกุลอื่นค้าขายแทนเงินเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และผู้ส่งออกรายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ว่า กรมยังคงยืนยันเป้าหมายมูลค่าส่งออกปี 62 ขยายตัวไว้ที่ 8% จากปี 61 แม้ในเดือน ม.ค.62 ติดลบ 5.65% มูลค่า 18,993 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกไตรมาสแรกของทุกปีมีแนวโน้มชะลอตัว แต่จะกลับมาขยายตัวไตรมาส 2 และกรมมีกิจกรรมเสริมสำหรับผลักดันการส่งออกเป็นรายตลาดทั้งจีน อินเดีย แอฟริกา และรายกลุ่มสินค้า คาดจะช่วยผลักดันให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย

สำหรับมาตรการเสริมดังกล่าว เช่น การส่งเสริมสินค้าเกษตร และอาหาร โดยจะโปรโมตร่วมกับร้านอาหารไทยทั่วโลก กิจกรรมสร้างภาพลักษณ์อาหารไทย โดยเฉพาะอาหารออร์แกนิก อาหารในอนาคต ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม จะเน้นรักษาตลาดส่งออกเดิมอย่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรป และใช้โอกาสจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ด้วยการส่งสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ, การผลักดันส่งออกธุรกิจบริการ เช่น เครื่องสำอาง, ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ, การส่งเสริมการค้าออนไลน์ ทั้งตลาดจีน อินเดีย เป็นต้น “เอกชนไม่ได้พูดถึงสงครามการค้ามากนัก เพราะมีสินค้าหลายตัวได้รับผลดีจนยอดส่งออกเพิ่ม แต่ปัญหาใหญ่ คือ ค่าเงินบาทแข็งค่า และปรับขึ้นค่าแรง ที่จะกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า”

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนประเมินการส่งออกปี 62 เพิ่มขึ้น 3% มูลค่า 259,400 ล้านเหรียญฯ หรือต่อเดือนต้องได้ไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านเหรียญฯ แต่ถ้าภาครัฐส่งเสริมการตลาดและแก้ไขปัญหาอุปสรรค ก็อาจโตได้ 5% ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งไม่ควรแข็งค่าเกินกว่า 31 บาท/เหรียญฯ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ที่จะกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิต “สมาชิกหอการค้าไทยใน 40 จังหวัด ไม่ต้องการให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นแรงงานต่างด้าวถึง 6-7 ล้านคน ดังนั้น จะเสนอให้รัฐบาลคงค่าแรงงานขั้นต่ำปีนี้ไว้ก่อน และควรหารือทุกฝ่ายอย่างน้อย 1 ปี ก่อนสรุปผล เพราะผู้ส่งออกจะทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บางรายเป็นปี ถ้าขึ้นค่าแรงโดยไม่ทราบล่วงหน้า จะกระทบต้นทุนผลิตได้ ส่วนสงครามการค้ามีสัญญาณดี ที่สหรัฐฯ ขยายเวลาขึ้นภาษีสินค้ากับจีนเป็น 25% ออกไปก่อน จากเดิมจะขึ้นภาษีเดือน มี.ค.62”

ส่วนนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ผู้ส่งออกควรหาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง เช่น ใช้เงินสกุลท้องถิ่น แต่ปัจจุบันยังใช้น้อย ส่วนหนึ่งเพราะยังคุ้นเคยกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงเป็นห่วงค่าเงินบาทแข็งค่ามาตลอด แต่ ธปท.รับผิดชอบโดยตรง กระทรวงจึงไม่ก้าวก่าย สาเหตุที่เงินบาทแข็ง เป็นผลจากการลงทุนที่เข้ามาไทยต่อเนื่อง และไทยเกินดุลการค้า ส่วนการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 62 เพราะต้องการพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนักจากสงครามการค้ากับจีนนั้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เพราะทำให้ไทยส่งสินค้าเข้าไปขายในสหรัฐฯได้โดยไม่มีอุปสรรค.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ