แคทซื้อหุ้นไทยคมจากอินทัชเริ่มคืบหน้า หลังรัฐบาลเคาะอยากให้จบก่อนไป เผย 2 ฝ่ายมองเห็นโอกาส ด้านเทมาเสกไม่เคยอยากได้ดาวเทียมอยู่แล้ว ขณะที่แคทอยากใช้ดาวเทียมต่อยอดธุรกิจ เผยขณะนี้มีเงินเพียงพอที่จะซื้อหุ้นได้ จากค่าเช่าอุปกรณ์-เสาโทรคมนาคมที่ได้จากดีแทคและทรู
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ว่า ขณะนี้กระทรวงดีอียังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้ากรณีบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เทเลคอม จะเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 41.7% จากบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดยการซื้อหุ้นดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กิจการดาวเทียมดำเนินการโดยคนไทย เนื่องจากอินทัช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไทยคมนั้น มีกองทุนเทมาเสกจากสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่
ทั้งนี้ความพยายามในการเจรจาซื้อหุ้นไทยคม เริ่มขึ้นตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2557 เพราะต้องการให้กิจการดาวเทียมอยู่ในมือของคนไทย หลังเทมาเสกกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอินทัชเพราะซื้อหุ้นจากตระกูลชินวัตรในปี 2549 โดยเทมาเสกต้องการถือหุ้นในเอไอเอส กิจการมือถือในเครืออินทัชเป็นหลัก ไม่ได้สนใจในกิจการดาวเทียม เทมาเสกจึงต้องการขายไทยคมมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดความพยายามในการซื้อหุ้นไทยคมเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้รัฐบาลต้องการให้เสร็จสิ้นก่อนหมดวาระ โดยขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่าย กำลังอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่ากิจการ (Due Diligence) ซึ่งหากตกลงกันได้ ก็จะทำคำเสนอซื้อหุ้นไทยคมคืนจากนักลงทุนทั่วไป (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ตามเงื่อนไขของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้านแคทเทเลคอมที่ได้เสนอตัวเข้าไปถือหุ้นไทยคมนั้น เนื่องจากมองเห็นลู่ทางการลงทุนและโอกาสทางธุรกิจ เมื่อสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทย สิ้นสุดลงในปี 2564 กระทรวงดีอีจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนภายใต้โครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยผู้ที่จะยื่นข้อเสนอบริหารกิจการดาวเทียมนั้น ต้องมีประสบการณ์ 10 ปี และต้องเป็นคนไทย ดังนั้นหากแคทเข้าไปถือหุ้นในไทยคม ก็จะทำให้แคทมีโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้องค์กรได้ อีกทั้งยังเป็นการลงทุนต่อยอดธุรกิจของตัวเองด้วย เนื่องจากในบางพื้นที่ของประเทศไทย ยังต้องการใช้บริการดาวเทียมอยู่ ส่วนเงินที่จะนำไปซื้อหุ้นนั้น จะใช้เงินของแคทที่ขณะนี้มีเพียงพอ เนื่องจากได้รับเงินจากค่าเช่าเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์โทรคมนาคม รวมถึงการยุติข้อพิพาทกับคู่สัญญาสัมปทานมือถือ ทั้งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด คิดเป็นมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกันอีกปีละ 2,000-3,000 ล้านบาทด้วย.