คมนาคม เดินหน้าพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน หลังรัฐลุยสร้างเมกะโปรเจกต์ขนส่งทั่วไทย ชูโมเดลพัฒนา สถานีรถไฟชิบูย่าญี่ปุ่น นำร่อง พร้อมดันรัฐออกก.ม.TOD รองรับพัฒนาพื้นที่ ป้องการเมืองแทรก
วันที่ 16 ก.พ. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมมาคม เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งกับเมืองแบบไร้รอยต่อว่า ภายหลังจากที่ภาครัฐได้มีนโยบายดำเนินการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานระบบรางทั่วประเทศ และเพื่อให้ประชาชนที่มาใช้ระบบขนส่งมวลชนได้รับความสะดวก ในการใช้บริการรวมถึงสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังเมือง ระหว่างเมืองแบบไร้รอยต่อ ดังนั้นทางกระทรวงคมนาคม จึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ให้มีการเชื่อมโยงโครงข่ายกับชุมชนที่มาใช้บริการด้านคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้ มั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง หรือ TOD ที่ระบบขนส่งมวลชนทางรางไปถึงได้แน่ในเมืองไทย ทั้งในเมือง และต่างจังหวัด ตัวอย่างเช่น ที่ย่านชิบูย่า กลางกรุงโตเกียว ที่มีประชาชนจากทุกทิศทุกทางมาใช้บริการสถานีรถไฟ ในขณะที่รอบๆ สถานีก็มีการพัฒนาเมืองรองรับทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการขนส่งมวลชนสามารถเดินได้ทุกทิศทาง ส่วนต่างจังหวัดก็สามารถทำได้ตามสถานีขนส่งระบบราง เช่นสถานีรถไฟ รถไฟทางคู่ เพราะระบบคมนาคมถือเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่เป็นตัวกระตุ้นให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของตนเอง เช่น การพัฒนารถไฟชินคังเซนของญี่ปุ่น จะให้ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดว่าตำแหน่งสถานีจะอยู่จุดใด และจะพัฒนาเมืองอย่างไร ถ้าหากข้อเสนอเมืองใดดีที่สุดก็จะเป็นผู้ได้สถานีไป และที่สำคัญเห็นว่าควรที่จะมีการร่าง พ.ร.บ.TOD ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพราะจะทำให้การพัฒนา TOD เกิดความยั่งยืนและไม่มีผลกระทบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และที่สำคัญเมื่อมี พ.ร.บ.เฉพาะการพัฒนา TOD และองค์กรพัฒนาปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจากส่วนกลางมาพัฒนา
นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า ประกอบกับที่ผ่านมาประเทศไทยมักใช้นโยบายการเวนคืนในการพัฒนาโครงการ แต่การเวนคืนมีจุดอ่อนคือ ผู้ที่ถูกเวนคืนคือผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุด แต่ผู้ที่มีที่อยู่ติดกับที่ที่ถูกเวนคืน กลับกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด แต่การพัฒนาในรูปแบบ TOD ต้องมีการหารือพื้นที่เป้าหมาย โดยให้ส่วนท้องถิ่นเข้าไปซื้อที่รวบรวมที่ดินในราคาท้องตลาด แล้วมีการจัดรูปที่ดิน แบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้สะดวก ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ทุกคนต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน และที่สำคัญเพื่อเป็นการเปิดกว้างภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา TOD ด้วย.