"ฐากร" ลั่นประมูล 5 จีต้องเกิด! ชง ม. 44 ปลดล็อกขยายเวลาจ่ายคลื่น 900

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"ฐากร" ลั่นประมูล 5 จีต้องเกิด! ชง ม. 44 ปลดล็อกขยายเวลาจ่ายคลื่น 900

Date Time: 5 ก.พ. 2562 09:30 น.

Summary

  • “ฐากร” ลั่นเตรียมชง “นายกรัฐมนตรี” ใช้ ม.44 ปลดล็อกจ่ายค่างวดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปอีก 4-5 งวด หวังเอกชนนำเงินไปลงทุนบริการ 5 จี ลั่นทุกอย่างต้องจบก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้

Latest

“คลัง”สั่งการเปิดรับผู้ค้าสลากN3รายใหม่

“ฐากร” ลั่นเตรียมชง “นายกรัฐมนตรี” ใช้ ม.44 ปลดล็อกจ่ายค่างวดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปอีก 4-5 งวด หวังเอกชนนำเงินไปลงทุนบริการ 5 จี ลั่นทุกอย่างต้องจบก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้ พร้อมจับมือเอกชน-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าทดสอบ 5 จี ประเทศแรกในอาเซียน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายในงานเปิดศูนย์ 5G AI / IoT Innovation Center ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5 จีในระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะติดตั้งอุปกรณ์และสถานีฐานของโครงข่าย 5 จี ทุกค่ายมือถือสามารถเข้าร่วมทดลองได้ โดยใช้คลื่นความถี่ย่าน 26.5-27.5 กิกะเฮิรตซ์ ถือว่าไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เดินหน้าทดลอง 5 จี

สำหรับความร่วมมือระหว่าง กสทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการเอกชน ในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งถือเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็ง รองรับการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ยุค 5 จี ซึ่งขณะนี้ กสทช.มีแนวคิดที่จะให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ให้กู้ยืม เพื่อการวิจัยและพัฒนา 5 จี ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ต้องเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุน กทปส.พิจารณาอีกครั้ง

“ถึงแม้จะเป็นเพียงการทดลอง และยังไม่มีการผลิตอุปกรณ์ แต่ไทย ก็ต้องลงทุน 5 จีในอนาคต ฉะนั้นผู้ประกอบการมือถือไม่ต้องกังวล ไม่ต้อง เป็นห่วงว่าจะไม่มีเงินมาลงทุน กสทช.จะพยายามทำให้ประเทศไทยมีบริการ 5 จี เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมาก จึงขอย้ำว่า เอกชนอย่าวิตกว่าจะไม่มีเงิน กสทช.จะทำให้มีเงินมาประมูลให้ได้ จะประมูลแบบไหน อย่างไรก็ต้องรอ เพราะ กสทช.กำลังเร่งดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่จะนำมาในบริการ 5 จี”

อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้ กสทช.จะหารือกับรัฐบาล ถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปอีก 4-5 งวด เพื่อแบ่งเบาภาระการจ่ายค่าประมูลงวดสุดท้ายในปี 63 ของบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส รวม 120,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาระจำนวนมาก ขณะที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีภาระต้องจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนแนวทางการช่วยเหลือนั้น กสทช.อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอที่ดีที่สุด ได้ประโยชน์ทั้งประเทศและประชาชน และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา

“สิ่งใดที่ กสทช.สามารถดำเนินการออกประกาศช่วยเหลือได้ กสทช.ก็จะทำเองตามอำนาจของ กสทช. แต่ประเด็นใดที่เกินอำนาจ จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ โดย กสทช. จะพยายามเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ