ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชี้แจงกรณีแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาด้วยวิธีการพิมพ์สลากแบบจัดรวมชุด ยืนยันไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่แค่ทดลองพิมพ์รวมชุดกับระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ซึ่งมีสัดส่วนสลากมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนสลากทั้งหมด ที่ออกจำหน่าย 900,000 เล่ม ต่องวด ส่วนการพิมพ์สลากแบบเดิมคือเรียงเลข ยังคงมีอยู่ สำหรับผู้ค้าในระบบโควตา หากแก้ได้ผลถึงพิจารณาพิมพ์เพิ่ม พร้อมมั่นใจความปลอดภัยในระบบที่ใช้ในการจัดพิมพ์
สืบเนื่องจากการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะจัดพิมพ์สลากด้วยระบบการพิมพ์รวมชุด โดยผู้จำหน่ายแต่ละรายได้รับสลากจำนวน 5 เล่มเช่นเดิม แต่สามารถจำหน่ายสลากชุดได้ 200 ชุด ชุดละ 2 ใบ ซึ่งสามารถแยกขายเป็นใบเดี่ยวได้ ภายหลังจากการแถลงข่าวดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชนผู้ซื้อและผู้ขายสลาก ตลอดจนนักวิชาการอย่างกว้างขวาง โดยบางส่วนยังมีความเห็นว่าการจัดพิมพ์แบบใหม่นี้ น่าจะยังไม่สามารถแก้ปัญหารวมชุดสลากและขายสลากเกินราคาได้ เนื่องจากยังมีการจัดพิมพ์สลากแบบเดิมให้กับตัวแทนจำหน่ายในระบบโควตาอยู่ ไม่ได้เป็นการจัดพิมพ์แบบใหม่เหมือนกันทั้งหมด และมีความกังวลใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการจัดพิมพ์นั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ม.ค. พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานฯ พิมพ์สลากออกจำหน่ายงวดละ 900,000 เล่ม แบ่งออกเป็นสลากในระบบตัวแทนจำหน่าย ซึ่งมีผู้มารับไปจำหน่ายเป็นประจำ งวดละ 330,000 เล่ม และสลากในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าซึ่งพิมพ์ตามจำนวนที่มีผู้สั่งจองอีกงวดละ 570,000 เล่ม
พ.ต.อ.บุญส่งกล่าวว่า ที่ผ่านมาการพิมพ์สลาก เป็นการพิมพ์แบบเรียงตัวเลข ไม่มีการคละหมายเลขทั้ง 900,000 เล่ม จำหน่ายทั้ง 2 ระบบ ทำให้เกิดการรวมชุดได้ง่ายขึ้น เป็นสาเหตุของการจำหน่ายสลากชุดในราคาสูง และทำให้สลากแบบใบเดี่ยวหายไปจากตลาด เมื่อสำนักงานฯ ได้นำระบบพิมพ์สลากแบบคละเลขในเล่มเพื่อให้ผู้จำหน่ายที่รับสลากจากสำนักงานฯ สามารถไปจำหน่ายแบบเลขชุดและแบบใบเดี่ยวตามสูตร 2-2-1 ได้ เนื่องจากสำนักงานฯได้พิมพ์สลากล่วงหน้า ในระบบตัวแทนจำหน่ายไว้แล้ว เพราะมีตัวแทนจำหน่ายที่รับสลากแน่นอนและต้องจัดส่งให้ทั่วประเทศ ส่วนระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ต้องพิมพ์ตามคำสั่งซื้อ คำสั่งจอง ไม่สามารถพิมพ์ล่วงหน้าได้ ดังนั้น เมื่อนำระบบการพิมพ์คละเลขในเล่มมาทดลองใช้ เพื่อแก้ไขปัญหารวมชุดใหญ่ จึงใช้กับระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ซึ่งมีสัดส่วนสลากมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนสลากทั้งหมด และหากได้ผล คือมีการขายสลากตามราคามากขึ้น ก็จะพิจารณาในส่วนของระบบโควตาต่อไป
ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อไปอีกว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครั้งนี้สำนักงานฯ ต้องคำนึงถึงผลกระทบของระบบทั้งหมดด้วย จึงจำเป็นต้องขอทดลองกับระบบซื้อ-จองล่วงหน้าก่อน สำนักงานฯไม่ได้เลือกปฏิบัติตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ก็จะเพิ่มมาตรการการตรวจผู้จำหน่ายทั้ง 2 ระบบอย่างเข้มข้นขึ้น หากฝ่าฝืนก็จะดำเนินการตัดโควตาและระงับการซื้อจองต่อไป
“การจัดพิมพ์เป็นแบบคละตัวเลขภายในเล่ม ทำให้การรวมชุดเป็นไปได้ยากขึ้นมาก และประชาชนผู้ซื้อสลาก สามารถซื้อสลากชุดและสลากใบเดี่ยวจากผู้ที่ซื้อ-จองล่วงหน้า ได้ทั้งสลากแบบรวมชุด 2 ใบ และสลากแบบใบเดี่ยว 1 ใบ เพราะไม่ต้องไปซื้อจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป ส่วนประเด็นข้อกังวลใจเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการจัดพิมพ์นั้น ขอยืนยันว่าระบบการพิมพ์ของสำนักงานฯมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างครบถ้วน เป็นไปตามมาตรฐานสากลทุกประการ” ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าว