“บิ๊กตู่” ไฟเขียวกรอบรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท
“ประยุทธ์” เคาะวงเงินงบประมาณปี 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 200,000 ล้านบาท สำนักงบชี้ขาดดุลเท่าเดิม 450,000 ล้านบาท อยู่ในกรอบวินัยการคลัง ดันจีดีพีขยายตัว 4% ชง ครม.อนุมัติสัปดาห์หน้าทันที
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า การประชุมพิจารณากำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2562 จำนวน 200,000 ล้านบาท โดยยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 450,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2562 ภายใต้การประมาณการเศรษฐกิจว่าจะขยายตัวที่ 4%
สำหรับการกำหนดกรอบวงเงินดังกล่าวเป็นการประชุมหารือระหว่าง 4 หน่วยงานร่วมกับนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งหลังจากนี้จะได้นำรายละเอียดงบประมาณ ซึ่งประกอบด้วย วงเงินรายจ่าย งบประมาณรายจ่ายประจำ งบประมาณเพื่อการลงทุน งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบ-ประมาณเพื่อชำระเงินกู้ ประมาณการการจัดเก็บรายได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ม.ค.นี้
“วงเงินงบประมาณรายจ่ายเป็นตัวเลขเบื้องต้นอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามที่ ครม. เห็นสมควร ส่วนการกำหนดวงเงินขาดดุลนั้นยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังและเป็นไปตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ มาตรา 21 ที่กำหนดว่าการทำงบประมาณขาดดุลในวงเงินไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย รวมกับ 80% ของงบชำระคืนเงินกู้ รวมแล้วเพดานที่ทำงบประมาณขาดดุลได้ประมาณ 710,000 ล้านบาท การกำหนดวงเงินขาดดุลที่ 450,000 ล้านบาท จึงอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังและตามกฎหมาย”
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บรายได้นั้น กระทรวงการคลัง จะนำเสนอให้ ครม.รับทราบในวันที่ 8 ม.ค.เช่นกัน โดยแม้จะมีการแสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ไม่น่าจะดีนัก แต่ก็มีการกำหนดเป้าหมายการจัดเก็บที่สูงกว่าปี 2562 โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบรับที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้สูงขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้นโยบายในที่ประชุมว่าขอให้ใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกระดับ ให้เข้าถึงโอกาสในการบริการของภาครัฐ และใช้จ่ายงบประมาณในเชิงรุกลงไปยังพื้นที่ ให้ประชาชนมีการเติบโตที่เท่าเทียมกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในช่วงการเปิดประชุมว่า การจัดทำงบประมาณให้เป็นไปตามกฎหมายทุกฉบับ เพื่อให้การบริหารจัดการและใช้จ่ายงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ทุกหน่วยงานใช้จ่ายงบประมาณตามรายไตรมาสที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลต่อด้านเศรษฐกิจของประเทศ และขอให้นโยบายว่าต้องจัดสรรงบประมาณ ไม่ให้ผูกพันเกิน 2 ปี เพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระในปีต่อไป ซึ่งแผนงานโครงการใดที่มีงบประมาณสูง จะต้องไปบรรจุอยู่ในแผนแม่บท เพื่อดำเนินการต่อไปในอนาคต
ขณะที่นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง พบว่าผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมปี 2561 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560-พ.ย.2561 มีจำนวน 352,466 ล้านบาท หรือคิดเป็น 85% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม สำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมปี 2562 ตั้งแต่เดือน ต.ค.-พ.ย.2561 มีจำนวน 13,483 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56% ถือว่าอัตราการเบิกจ่ายค่อนข้างต่ำเนื่องจากรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีผลการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผน.