เลื่อนเลือกตั้ง! หวั่นเม็ดเงินชะงัก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เลื่อนเลือกตั้ง! หวั่นเม็ดเงินชะงัก

Date Time: 5 ม.ค. 2562 05:25 น.

Summary

  • การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดิมที่กำหนดวันที่ 24 ก.พ.2562 นั้น จะไม่กระทบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถชี้แจงเหตุผลได้อย่างชัดเจน...

Latest

เปิดคำตีความคณะกรรมการกฤษฎีกา “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ขาดคุณสมบัติ!

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากเดิมที่กำหนดวันที่ 24 ก.พ.2562 นั้น จะไม่กระทบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถชี้แจงเหตุผลได้อย่างชัดเจน และการเลื่อนยังอยู่ในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 150 วัน นับจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ เพราะมั่นใจว่านานาชาติและนักลงทุนทั่วไปจะรับฟังเหตุผล และเข้าใจถึงความจำเป็นที่ไทยจำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้การเลื่อนการเลือกตั้งจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม แต่ยอมรับว่าเม็ดเงินจากการหาเสียงที่คาดว่าจะมีสูงถึง 30,000-50,000 ล้านบาท จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การทำป้ายหาเสียง ป้ายโฆษณา แผ่นพับ ใบปลิวต่างๆ จะเกิดความล่าช้าที่เม็ดเงินเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจสะพัดในระบบเศรษฐกิจตามระยะเวลาการเลือกตั้งที่จะเลื่อนออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 4-4.5% โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 5% รวมถึงเม็ดเงินสะพัดจากการเลือกตั้งที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ แต่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะทางออกของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน สถานการณ์ราคาน้ำมัน เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.2561 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 79.4 ลดลงจาก 80.5 ในเดือน พ.ย.2561 สาเหตุมาจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.75% ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับจากปี 54 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อำนาจซื้อน้อยลง, ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดทรงตัวระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่ขยายตัวมากนัก, นักท่องเที่ยวจีนลดลง ทำให้รายได้ภาคท่องเที่ยวลดลง และธุรกิจต่อเนื่องขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนที่ยังมีปัญหาอยู่ จนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนชะลอลง ทำให้กำลังซื้อในปัจจุบันชะลอตัวลง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ