นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา รฟท.ได้เปิดซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษของกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) เบื้องต้นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจะแยกข้อเสนอพิเศษของกลุ่มซีพีออกเป็นหมวดหมู่ว่ามีเรื่องใดบ้าง จากนั้นจึงจะทราบว่าข้อเสนอพิเศษที่กลุ่มซีพีเสนอเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ หลังจากเปิดซองที่ 4 เพื่อแยกหมวดหมู่ข้อเสนอพิเศษของกลุ่มซีพี เช่น เรื่องของการใช้ระบบที่เป็นออโตเมติก หรืออื่นๆแล้วเป็นต้น โดยในวันที่ 3 ม.ค.2562 รฟท.จะประชุมเพื่อพิจารณาหมวดหมู่ทั้งหมด เพื่อเจรจาต่อรองราคาตามขั้นตอนของการประกวดราคา จากนั้นจึงจะเชิญกลุ่มซีพีมาเจรจาคาดว่าใช้เวลา 2 สัปดาห์ หากได้ข้อยุติก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และลงนามในสัญญาไม่เกินวันที่ 31 ม.ค.2562
“ตอนนี้ยังไม่ทราบจริงๆว่าในซองที่ 4 มีข้อเสนออะไรบ้าง เพราะต้องใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอออกเป็นหมวดหมู่ก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณา เมื่อแยกออกมาแล้ว จึงจะทราบว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และต้องประชุมเป็นการภายใน รฟท. เพื่อเตรียมตัวเจรจากับทางกลุ่มซีพีด้วย”
นายวรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำรองลงมานั้น หาก รฟท.เจรจาเรื่องข้อเสนอพิเศษกับกลุ่มซีพี ไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน ก็ต้องเชิญบีเอสอาร์มาเจรจา เพื่อต่อรองราคาตามเงื่อนไขการประกวดราคาที่กำหนดไว้ ถึงแม้การลงนามในสัญญาจะล่าช้ากว่าแผนงานเดิมที่กำหนดไว้บ้าง ก็ยังดีกว่าต้องเริ่มประกวดราคาใหม่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาเริ่มต้นใหม่อีกนาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวม 220,000 ล้านบาท กลุ่มซีพี เสนอต่ำสุดที่ 117,227 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง 119,425 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มบีเอสอาร์เสนอราคาที่ 169,934 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 50,066 ล้านบาท โดยกลุ่มซีพีเสนอราคาต่ำกว่ากลุ่มบีทีเอสอาร์ 52,707 ล้านบาท เพราะฉะนั้นกลุ่มซีพีจึงเป็นผู้ชนะประมูลในโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินดังกล่าว.