กำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการ “ชิงดำ” สัมปทานร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท 1 ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นโครงการนำร่องลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ด้วยเงื่อนไขการลงทุนโครงการนี้ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาสัมปทานถึง 50 ปี และภาครัฐยังจะร่วมลงทุนด้วยภายใต้วงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ขณะที่ผู้ร่วมทุนภาคเอกชนนอกจากจะรับสัมปทานทั้งการก่อสร้าง จัดหาระบบการเดินรถแล้ว ยังได้สิทธิ์พัฒนาที่ดินทำเลทองมักกะสัน 150 ไร่ มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท รวมถึงสิทธิในการเดินรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตลิงก์” มูลค่าร่วม 20,000 ล้านบาทแถมพกไปด้วย
เป็นเงื่อนไขการลงทุนที่กล่าวได้ว่า “เกิดอีก 10 ชาติก็หาไม่ได้อีกแล้วใน 3 โลก”
จึงไม่แปลกใจที่กลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศจะเปิดหน้าพร้อมเข้าร่วมชิงดำสัมปทาน “ไฮสปีดเทรน” ครั้งประวัติศาสตร์นี้กันคึกคัก ตบเท้าเข้ามาซื้อซองข้อเสนอถึง 31 ราย แต่ละรายที่เปิดหน้ากันออกมาล้วนแล้วแต่ “บิ๊กเนม” ทุนหนาแบ็กอัปปึ้กด้วยกันทั้งสิ้น
แต่เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นซองประกวดราคาจริงวันที่ 12 พ.ย.61 กลับเหลือเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นคือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร และกลุ่มบีเอสอาร์ที่มีบริษัทบีทีเอสกรุ๊ป เป็นแกนนำ ก่อนที่คณะกรรมการการรถไฟฯจะตั้งคณะกรรมการคัดเลือกที่มี นายวรวุฒ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและรักษาการผู้ว่ารถไฟฯ เป็นประธาน
ล่าสุดหลังขับเคี่ยวกันมาขวบเดือน มีกระแสเล็ดลอดออกมาจากคณะกรรมการคัดเลือกที่ใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอทางการเงินร่วม 10 ชั่วโมงว่าหลังพิจารณาเปิดซองข้อเสนอด้านการเงินแล้ว คณะกรรมการเห็นชอบกับข้อเสนอของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯเป็นผู้เสนอราคาในโครงการดีที่สุด
โดยระบุว่ากลุ่มดังกล่าวได้เสนอของบสนับสนุนจากภาครัฐต่ำกว่าคู่แข่งและต่ำกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค.61 ตั้งไว้ที่ต้องไม่เกิน 1.19 แสนล้านบาท แต่ยังไม่สามารถบอกวงเงินที่ทางกลุ่มเสนอได้ เพราะต้องพิจารณาข้อมูลความเชื่อมโยงอื่นๆประกอบซึ่งคาดว่าจะประกาศผู้ชนะประมูลได้ในกลางสัปดาห์นี้
ทำเอาสื่อและผู้ที่เฝ้าติดตามอภิมหาโปรเจกต์นี้ตีปี๊บกันล่วงหน้า “กลุ่มซีพีจ่อคว้าสัมปทานไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินตามคาด”
สำหรับประชาชนคนไทยที่เฝ้ารอ “ไฮสปีดเทรน” สายนี้คงจะไม่อินังขังขอบอะไรด้วยว่าใครจะคว้าพุงปลามันไปครอง แต่สิ่งที่ต้องฝากเป็นข้อคิดให้การรถไฟและรัฐบาลได้ตระหนัก การจะพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคและการเงินในโครงการสัมปทานรัฐลักษณะนี้ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่พิจารณาแต่ในแง่ที่ว่าข้อเสนอของเอกชนรายใดของบสนับสนุนจากภาครัฐต่ำกว่าเงื่อนไขและกรอบที่กำหนดเท่านั้น
เพราะเป็นเพียง 1 ใน 8 ข้อพิจารณาทางการเงินเท่านั้น แต่ยังต้อง พิจารณาไปถึงเกณฑ์อื่นๆประกอบด้วยทั้งแผนธุรกิจในการดำเนินโครงการ การจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน ผลตอบแทนทางการเงินตลอดสัญญาทั้งจากการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์และตัวโครงการ โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราค่าโดยสารและทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหล่านี้
แน่นอน! หากพิจารณาในภาพรวมแล้วปรากฏว่าแม้บริษัทเอกชนคู่แข่งจะเสนอของบสนับสนุนจากภาครัฐสูงกว่าอีกราย แต่หากรายดังกล่าวเสนอผลตอบแทนทางการเงินตลอดสัญญา กำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่ำกว่าและยังมีการลงทุนในทรัพย์สินโครงการพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเหล่านั้นให้รัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาที่สูงกว่า ก็ย่อมต้องถือว่าเป็นข้อเสนอที่ดีกว่าและเหนือกว่า
“สิ่งที่การรถไฟฯต้องตระหนักในเรื่องทรัพย์สินโครงการ ก็เพราะในอดีตนั้นภาครัฐต้อง “เสียค่าโง่” จากการที่บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานมือถือบางรายภายใต้สัมปทานบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีการผ่องถ่ายทรัพย์สินโครงข่ายไปให้บริษัทลูก โดยไม่ได้ยกให้เป็นทรัพย์สินของรัฐจนกลายเป็นว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ภาครัฐแทบไม่ได้อะไรกลับมา”
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ก็เช่นกัน หากบริษัทหนึ่งแตกบริษัทลูกออกมายิบย่อยเพื่อลงทุนในโครงการแล้วปล่อยเช่าให้บริษัทแม่ผู้รับสัมปทานโครงการ จนสุดท้ายแล้วภาครัฐได้แต่ “จั่วลม” ไม่ได้ทรัพย์สินอะไรกลับมา ก็จำเป็นจะต้องพิจารณาข้อเสนอของคู่แข่งประกอบ
หาไม่แล้วภาครัฐอาจเสียค่าโง่ได้แต่ “จั่วลม” กลับมาอีก เราไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอย!!!
ชูชาติ สว่างสาลี
econ@thairath.co.th