เลิกดันทุรังร่วม "ซีพีทีพีพี" รัฐบาลนี้ ยันไม่ได้กลัวเสียฐานเสียงแต่ต้องรอบคอบที่สุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เลิกดันทุรังร่วม "ซีพีทีพีพี" รัฐบาลนี้ ยันไม่ได้กลัวเสียฐานเสียงแต่ต้องรอบคอบที่สุด

Date Time: 11 ธ.ค. 2561 09:20 น.

Summary

  • “สนธิรัตน์” เผย “สมคิด” ตัดสินใจไม่เข้าร่วม “ซีพีทีพีพี” ในรัฐบาลนี้ อ้างเหลือเวลาอีก 2–3 เดือน เตรียมความพร้อมไม่ทัน รอประกาศรัฐบาลหน้า ยันเหตุประกาศร่วมไม่ทัน ไม่ใช่กลัวเสียคะแนนเสียง

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“สนธิรัตน์” เผย “สมคิด” ตัดสินใจไม่เข้าร่วม “ซีพีทีพีพี” ในรัฐบาลนี้ อ้างเหลือเวลาอีก 2–3 เดือน เตรียมความพร้อมไม่ทัน รอประกาศรัฐบาลหน้า ยันเหตุประกาศร่วมไม่ทัน ไม่ใช่กลัวเสียคะแนนเสียง หรือถูกโจมตี แต่ต้องการเตรียมความพร้อมให้รอบด้าน หวังให้การเจรจาเป็นประโยชน์มากที่สุด ลั่นถ้ารัฐบาลหน้าไม่ร่วม ต้องชี้แจงให้ชัด หลัง “พาณิชย์” หยั่งเสียงแล้ว ส่วนใหญ่หนุนร่วม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอผลการศึกษาผลดี ผลเสีย รวมถึงผลการศึกษาของ 30 หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่าไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อไร ซึ่งนายสมคิดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าไทยคงไม่สามารถประกาศการเข้าร่วมได้ทันในรัฐบาลชุดนี้ หรือได้ทันก่อนการเลือกตั้งเดือน ก.พ.62 เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบที่สุด และไม่น่าจะพิจารณาได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน

“การเข้าร่วมมีทั้งผลดีและผลเสีย โดยในส่วนผลกระทบเรายังต้องศึกษาและหาแนวทางเจรจาต่อรองให้ละเอียดรอบคอบที่สุด เวลาที่เหลืออีก 2-3 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะศึกษาทัน หรือเตรียมแนวทางการเจรา หรือเตรียมความพร้อมได้ทัน อีกทั้งความตกลงกำลังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค.นี้ จากนั้นสมาชิกจึงจะประกาศรับสมาชิกใหม่ ประเทศใดที่สนใจจะเข้าร่วมต้องส่งหนังสือแสดงเจตจำนงไปที่นิวซีแลนด์ ผู้ประสานงานในการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งต้องมีหลายขั้นตอน ดังนั้น การประกาศเข้าร่วมคงต้องเป็นในรัฐบาลหน้า”

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การที่ไทยประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้เป็นเพราะเกรงว่าจะเสียคะแนนเสียงทางการเมือง หรือเกรงจะถูกคนไม่เห็นด้วยโจมตี แต่เป็นเพราะต้องการเตรียมความพร้อมทุกอย่างให้ละเอียดรอบด้านมากที่สุด และการเจรจาต้องเป็นประโยชน์กับไทยมากที่สุด นอกจากนี้ยังไม่ถือเป็นการเสียหน้า แม้การประกาศเข้าเป็นสมาชิกจะเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ แต่การประกาศเข้าร่วมถือเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนได้รับทราบ และช่วยให้ตัดสินใจมาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น แต่หากรัฐบาลหน้าไม่ต้องการเข้าเป็นสมาชิก ต้องมีเหตุผลเพียงพอที่จะชี้แจงให้คนไทย และภาคเอกชนเข้าใจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วม ไม่เช่นนั้นไทยจะตกขบวน และเสียเปรียบในเวทีการแข่งขันโลกได้

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ต้องรอความชัดเจนของกลไกการรับสมาชิกใหม่ของซีพีทีพีพี ก่อน โดยหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ คาดว่า เดือน ม.ค.62 สมาชิกจึงจะประชุมเพื่อกำหนดรูปแบบการรับสมาชิก แต่นิวซีแลนด์เคยแจ้งว่าอาจทำเหมือนการรับสมาชิกใหม่ขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา หากเป็นเช่นนี้การประกาศเข้าร่วมของไทยไม่ทันรัฐบาลชุดนี้แน่นอน “ต้องรอดูกลไกการรับสมาชิกใหม่ก่อน ดูๆแล้วไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ แต่ขั้นตอนการเข้าร่วมยังเหมือนเดิมคือ ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งไทยอาจส่งให้นิวซีแลนด์หลังจากทราบกลไกการรับสมาชิกใหม่แล้ว หรือหลังจากรัฐบาลหน้าประกาศเข้าร่วมก็ได้ แต่ระหว่างนี้ไทยจะเตรียมความพร้อมในทุกด้าน วิเคราะห์ผลกระทบและหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงสร้างความเข้าใจประชาชนให้รอบคอบมากที่สุด”

สำหรับซีพีทีพีพี มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และชิลี โดยมี 7 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว คือ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ส่งผลให้ความตกลงจะมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค.61 ทั้งนี้ ในปี 60 ไทยมีมูลค่าการค้ากับ 11 ประเทศ 134,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 29.3% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย และไทยได้ดุลการค้า 6,000 ล้านเหรียญ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ