อย่ากลัวภาษีอี-เพย์เมนต์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อย่ากลัวภาษีอี-เพย์เมนต์

Date Time: 11 ธ.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • ทันทีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ทันทีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-payment Master Plan) หรือที่รู้จักกันในนาม “กฎหมาย อี-เพย์เมนต์”

เพียงช่วงเวลาไม่นานนัก กระแสโซเชียลมีเดียก็ออกมาถล่มยับ พร้อมกับตำหนิกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นการรีดภาษีจากผู้ประกอบการออนไลน์ เนื่องจากรัฐบาลถังแตก...พร้อมระบุว่า กรมสรรพากรเก็บแต่ภาษีรายย่อย ชาวบ้านตาดำๆ หาเช้ากินค่ำที่เปลี่ยนบทบาทจากพ่อค้าริมถนนเป็น “พ่อค้าออนไลน์” จนเกิดความกังวลในการทำธุรกิจ เพราะไม่แน่ใจว่าธุรกิจเล็กๆ น้อยๆที่ทำอยู่นั้นจะถูกกรมสรรพากรตามเรียกเก็บภาษีหรือไม่

กรมสรรพากรได้ออกมายืนยันว่า วัตถุประสงค์ของกฎหมายไม่มีเจตนาเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์เป็นการเฉพาะ เนื่องจากผู้ประกอบการร้านค้าทุกรายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 และส่งผลให้ยื่นภาษีจริงในปี 2564 ในช่วงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2564

สำหรับเนื้อหาสาระของกฎหมาย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ รายงานธุรกรรมทางการเงินมายังกรมสรรพากร หากบุคคลใดมีรายการรับเงินปีละ 400 ครั้ง และมีมูลค่าเกิน 2 ล้านบาท หรือทุกบัญชีธนาคารรวมกันมีรายการรับเงินปีละ 3,000 ครั้ง

ธนาคารพาณิชย์จะต้องรายงานธุรกรรมทางการเงินของบุคคลนั้นให้กรมสรรพากรรับทราบ ซึ่งหากประเมินคร่าวๆจะพบว่า เงินที่รับโอนในแต่ละวันจะต้องมีมากถึง 10 ครั้ง ถึงจะมียอดรวมกัน 3,650 ครั้ง ซึ่งเกินกว่า 3,000 ครั้งต่อปี หรือรับโอนเงิน 5,000 บาทต่อครั้ง เป็นจำนวน 400 ครั้ง จึงจะมียอดเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งก็จะเข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้ทันที

แต่ในกรณีตลอดทั้งปีรับโอนเงินมา 10 ล้านบาท แต่หากจำนวนครั้งที่รับโอนมีแค่ 100 หรือ 200 ครั้ง ก็ไม่เข้าข่ายที่ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นของการเสียภาษีนั้น กรม สรรพากรระบุว่า หากเป็นผู้มีรายได้ที่ไม่ใช่ค่าจ้างเงินเดือน จะอยู่ในมาตรา 40 (2-8) จะเสียภาษี 2 รูปแบบ คือ 1.แบบเหมาจ่าย 0.5% ของรายได้ เช่น มีรายได้ 1,000 บาท เสียภาษี 5 บาท 2.เสียภาษีแบบอัตราก้าว หน้า หรือตามขั้นบันไดตั้งแต่ 5-35% ซึ่งจะต้องนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทั้งหมด ซึ่งกรมสรรพากร จะคำนวณ หากพบว่าภาษีรูปแบบไหนเสียมากกว่ากันจะเก็บอันนั้น แต่ส่วนใหญ่ผู้ทำอาชีพอิสระหรือค้าออนไลน์จะถูกประเมินในแบบแรกมากกว่าเพราะหากมีรายได้ 1 ล้านบาท เสียภาษี 5,000 บาท และมีรายได้ 2 ล้านบาท เข้าข่ายต้องรายงานธุรกรรมจะเสียภาษีประมาณ 10,000 บาท

ดังนั้น กรณีที่ระบุว่า กฎหมาย ฉบับนี้ออกมาเพื่อรีดภาษีรายย่อย จึงไม่เป็นความจริง เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายอี-เพย์เมนต์แท้ที่จริงคือ การปิดช่องโหว่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีรายได้หลายสิบล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เคยเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็น “หนาม ยอกอก” เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 9 ล้านคน ปัจจุบันมีคนไทยที่เสียภาษีให้แก่รัฐ 10.7 ล้านคน คิดเป็นเงินที่เก็บได้เพียง 300,000 ล้านบาท

แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ ประชาชนที่เสียภาษี 10 กว่าล้านคน เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3.5 ล้านคน อีก 6-7 ล้านคน เป็นผู้มีรายได้ที่เสียภาษีแบบเหมาจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่อ้างว่า ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ร้านก๋วยเตี๋ยว หาบเร่แผงลอย ไปจนถึงร้านอาหาร ร้านขายทอง ร้านขายยา (หมอตี๋) และบริษัททัวร์

กรมสรรพากรจึงได้แต่ประเมินภาษี โดยไม่มีฐานข้อมูลในการตรวจสอบยอดซื้อและยอดขายจริง แม้จะรู้ว่ามีรายได้สูงกว่าที่ยื่นภาษีก็ตาม แต่หากไม่มีหลักฐานชัดเจนก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้

เมื่อช่องโหว่ดังกล่าวถูกปิดลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องรายงานยอดรับเงินให้แก่กรมสรรพากรทุกปี ส่งผลให้ผู้ที่เคยเสียภาษีแบบเหมาจ่ายในอดีตคงจะไม่ใช่รายย่อยทุกรายอีกต่อไปแล้ว

ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีอยู่ 10.7 ล้านคน ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างทันตาเห็น เพราะรายงานของธนาคารพาณิชย์ทำให้กรมสรรพากรสามารถแกะรอยเส้นทางการเงินได้ โดยจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน 35-36 ล้านคน ในจำนวนนี้ คาดว่าเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีมี 15 ล้านคน ทำให้คนที่ยังล่องหนหาตัวไม่เจออีก 5 ล้านคน ถูกเปิดเผยตัวตนและถูกกรมสรรพากรเชิญมาพบเพื่อหาทางจัดเก็บภาษีต่อไป.

วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ