“สนธิรัตน์” เซ็นคลอดเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด กำหนดส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดขาย 1 พันล้านบาทขึ้นไป หรือธุรกิจ 3 รายแรก มีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 75% และยอดขาย 1 พันล้านบาทขึ้นไป ย้ำห้ามมีพฤติกรรมแข่งขันไม่เป็นธรรม หากฝ่าฝืนเจอคุก 2 ปี ปรับถึง 10% ของยอดขาย หรือทั้งจำและปรับ พร้อมออกเกณฑ์ควบรวมกิจการ หวังป้องกันผูกขาด คาดมีผลเร็วๆนี้หลังออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2561 ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดไม่สามารถดำเนินการใดๆ ที่ทำให้เกิดการผูกขาด และความไม่เป็นธรรมทางการค้าได้ หากฝ่าฝืนจะมีทั้งโทษอาญา และโทษปรับ โดยโทษอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากกระทำผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
สำหรับการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 และกฎหมายฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.2560 จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติต่างๆ ของผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งรวมถึงเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด และการรวมธุรกิจ เพื่อป้องกันการผูกขาด และทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม
โดยเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือผู้ประกอบการ 3 รายแรกในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ 75% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท
ส่วนพฤติกรรมไม่เป็นธรรมทางการที่ถือเป็นความผิดสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดนั้น มีทั้งการกำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การตั้งราคาในระดับต่ำมากเพื่อให้คู่แข่งออกจากตลาด การตั้งราคาต่ำกว่าต้นทุน เป็นต้น, กำหนดเงื่อนไขไม่เป็นธรรมทำให้คู่ค้าจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจำหน่ายสินค้า หรือจำกัดโอกาสเลือกซื้อ หรือขายสินค้า เช่น กำหนดให้ผู้ซื้อต้องซื้อเฉพาะสินค้าของตนเองเท่านั้น ห้ามซื้อจากผู้ผลิตรายอื่น เป็นต้น, การระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุอันควร ทำลาย หรือทำให้เสียหายซึ่งสินค้า และการแทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันควร
ขณะเดียวกัน ยังได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ.2561 เพื่อป้องกันการผูกขาด หรือใช้อำนาจเหนือตลาดแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม คาดจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่จะรวมธุรกิจ อันอาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด หรือเมื่อรวมกิจการกันแล้วมีส่วนแบ่งตลาด และยอดเงินขายเข้าตามเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องแจ้งการควบรวมต่อคณะกรรมการฯ และต้องได้รับอนุญาตก่อนการควบรวม
ทั้งนี้ หากไม่แจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการฯจะต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 200,000 บาท หรือปรับอีกไม่เกิน 10,000 บาทต่อวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน และหากไม่ขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ ต้องชำระค่าปรับไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ ส่วนเมื่อรวมธุรกิจแล้วและมีอำนาจเหนือตลาด ห้ามทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกับการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ทั้งห้ามผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขัน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด ขณะที่คู่ค้าหรือบุคคลใดที่ได้รับความเสียหายจากการใช้อำนาจเหนือตลาดทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรม มีสิทธิฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายได้.