จ่อปรับค่ารถเมล์หลังปีใหม่ คนกรุงกระเทือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จ่อปรับค่ารถเมล์หลังปีใหม่ คนกรุงกระเทือน

Date Time: 20 พ.ย. 2561 05:05 น.

Summary

  • คนจนส่อเดือดร้อนอีก หลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คมนาคม สั่งให้กรมการขนส่งทางบก นำข้อเสนอขอขึ้นค่าโดยสารรถร้อน-รถ ปอ. ...

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

ผู้ประกอบการเฮอ้างขาดทุนหนัก

คนจนส่อเดือดร้อนอีก หลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คมนาคม สั่งให้กรมการขนส่งทางบก นำข้อเสนอขอขึ้นค่าโดยสารรถร้อน-รถ ปอ.ไปพิจารณา ยังไม่สรุปว่าจะขึ้นในอัตราเท่าใด ตามที่เสนอมาหรือไม่ แต่ขึ้นแน่หลังปีใหม่ 2562 ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรวมตัวยื่นหนังสือยิ้มแฉ่ง รับปากคุณภาพการบริการจะดีขึ้นภายใน 1 ปี

ที่กระทรวงคมนาคม เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 พ.ย. นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน (รถเมล์ร่วม ขสมก.) นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง นำตัวแทนผู้ประกอบการรถร่วมรายย่อยกว่า 200 คนเดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เรียกร้องขอปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร รถเมล์ธรรมดา (รถร้อน) ปรับจาก 9 บาท เป็น 12 บาทต่อเที่ยว รถเมล์ปรับอากาศ (รถแอร์) ขอปรับจากเริ่มต้น 13 บาทเป็นเริ่มต้น 15 บาท และรถปรับอากาศใหม่ที่เข้าสู่การปฏิรูปเสนอขอจัดเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นจาก 20 บาท ใน 4 กิโลเมตรแรก และระยะต่อไปให้จัดเก็บ 25 บาท โดยทั้งหมดเข้าไปเจรจาในห้องประชุมใหญ่อาคารสโมสรกระทรวง คมนาคม มีคณะผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ก่อนการเจรจาหาข้อสรุป นางภัทรวดีกล่าวว่า ผู้ประกอบการขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถร่วม ขสมก.มาตั้งแต่ปี 58 แล้ว แต่กระทรวงคมนาคมไม่อนุมัติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระขาดทุนอย่างหนัก เพราะเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำกว่าทุนมาตลอด 4 ปี ประกอบกับปัจจุบันการก่อสร้างรถไฟฟ้ายังทำให้รถบนถนนติดขัดอย่างหนัก ทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่หันไปใช้บริการอื่นที่รวดเร็วกว่า โดยเฉพาะรถ จยย.รับจ้าง เห็นได้ชัดเจนว่าปัจจุบันรถเมล์ไม่ใช่ทางเลือกของประชาชนอีกต่อไปแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการก็หยุดกิจการไปแล้วหลายรายเพราะรับสภาพขาดทุนไม่ไหว

“ขณะนี้รถร่วม ขสมก.ที่มีอยู่ประมาณ 4,000 คัน หยุดวิ่งให้บริการไปแล้ว 2,000 คัน จากปัญหาค่าโดยสารที่ต่ำกว่าทุนทำให้ผู้ประกอบการเจ๊ง ส่งผลให้คนขับและพนักงานเก็บค่าโดยสารต้องตกงานไปแล้วกว่า 4,000 คน อยากให้ช่วยพิจารณาปรับค่าโดยสารให้เป็นธรรมโดยด่วน ที่สำคัญผู้ประกอบการไม่ได้มาเรียกร้องขอเงินจากรัฐบาลไปลงทุน เพียงแต่มาขอให้ปรับค่าโดยสารให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงเท่านั้น หากภายใน 15 วัน กระทรวงไม่อนุมัติให้ปรับราคา ทั้ง 2 สมาคมจะต้องนัดหารือเพื่อหาจุดยืนร่วมกันอีกครั้ง” นางภัทรวดีกล่าว
นายวิทยาระบุว่า สาเหตุที่รัฐบาลไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารให้ เพราะรัฐบาลกลัวจะกระทบต่อฐานคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทุกรัฐบาลเหมือนกันหมด แม้จะรู้ดีถึงภาระต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ว่าเป็นอย่างไร

หลังการประชุมหาข้อสรุปนานกว่า 2 ชั่วโมง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอของสมาคมทั้ง 3 ข้อ มีมติรับข้อเสนอทั้ง 3 ไว้พิจารณา เพราะเห็นว่ารถร่วมมีภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของราคาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในเดือน พ.ค. 62 มาตรการอุดหนุนราคาก๊าซเอ็นจีวีจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะหมดอายุลง รวมทั้งค่าซ่อมและค่าแรงงานในระบบก็จะเพิ่มขึ้น

“ผมสั่งการให้กรมการขนส่งทางบก นำข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารทั้งหมด ไปวิเคราะห์หาอัตราปรับขึ้นค่าโดยสารที่เหมาะสม ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาอนุมัติ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค. แต่จะปรับในอัตราเท่าไหร่นั้นยังตอบไม่ได้ขึ้นกับการพิจารณา โดยจะต้องนำผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่าโดยสารใหม่ ตามผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาพิจารณาประกอบด้วย เบื้องต้นจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาหลังปีใหม่ เพื่อลดผลกระทบ
จากการเดินทางในช่วงปีใหม่”

ขณะที่นายวิทยากล่าวว่า พอใจกับผลประชุมในครั้งนี้ ทางผู้ประกอบการจะรอคำตอบจากคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางที่จะมีการประชุมในช่วงกลางเดือน ธ.ค. หากพิจารณาอนุมัติให้ปรับราคาก็ยินดีที่จะปรับขึ้นราคาในช่วงหลังปีใหม่ตามข้อเสนอ อาจขึ้นค่าโดยสารในช่วงวันที่ 5 ม.ค.หรือ 6 ม.ค.62 ผู้ประกอบการรอได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสัญญาว่าจะเร่งปรับเปลี่ยนคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนให้ดีขึ้นภายในเวลา 1 ปี


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ