คลี่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ลดเหลื่อมล้ำหรือซ้ำเติมประชาชน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลี่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ลดเหลื่อมล้ำหรือซ้ำเติมประชาชน

Date Time: 19 พ.ย. 2561 05:01 น.

Summary

  • จุดพลุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก “พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 ไปแบบ “ม้วนเดียวจบ” ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา...

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

จุดพลุขึ้นมาอีกครั้ง...หลังจาก “พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 ไปแบบ “ม้วนเดียวจบ” ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเชื่อว่าคงจะ “ปิดประตูลั่นดาน” หนทางเกิดไปแล้ว!

แต่วันดีคืนดี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ออกมายืนยันว่าได้รับนโยบายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯให้เร่งร่างกฎหมาย 2 ฉบับให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งโดย 1 ในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

จึงมีการปัดฝุ่นกฎหมายดังกล่าวออกมาลุยกำถั่วแบบ “ม้วนเดียวจบ”

แม้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลังในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฯจะยืนยันกฎหมายใหม่ที่ออกมา ได้มีการปรับแก้ไขเนื้อหาอันเป็น “จุดอ่อน” ในร่างเดิมไปหมดสิ้น กระนั้นก็ยังคงมีความตื่นตระหนกในหลายภาคส่วนที่ยังคงมองว่า กฎหมายฉบับนี้เป็น “ดาบ 2 คม” ที่ส่งผลกระทบไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะผู้คนในระดับรากหญ้าที่จะได้รับผลกระทบถึงขั้นไม่อาจรักษาผืนนาแปลงสุดท้ายของตนเอาไว้ได้อีก

เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ถือโอกาสนี้คลี่เนื้อหาในร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ ดังนี้ :

********

13 รัฐบาล 25 ปีกับ “ก.ม.ภาษีที่ดิน”

เริ่มจาก นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายภาษีที่ดินที่กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่าพระราชบัญญัติภาษีที่ดินใหม่ที่ผ่าน สนช.ไปล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้เริ่มต้นศึกษากฎหมายนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว และผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 13 รัฐบาล เป็นระยะเวลารวมกว่า 25 ปีจึงสัมฤทธิผลออกมาได้

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการผลักดันกฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้สังคมสร้างความยุติธรรมให้กับระบบภาษี “พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงถือเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งประวัติศาสตร์ มีการกำหนดประเภทและอัตราภาษีที่ดินไว้อย่างชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น”

อย่างไรก็ตาม รมช.คลังยอมรับว่าภาษีดังกล่าวจะยังประโยชน์แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้ โดยผลของกฎหมายทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่สามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีกลุ่มนี้ประมาณ 29,000 ล้านบาท

“กฎหมายดังกล่าวไม่กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี โดยก่อนหน้านี้ทางกรรมาธิการฯได้พิจารณาปรับลดเพดานภาษีลงมาแล้ว 40% รวมทั้งให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนบ้านหลังที่ 2 ก็ได้ปรับลดอัตราภาษีลงมาเหลือเพียงล้านละ 200 บาทเท่านั้น”

คลี่อัตราภาษีที่ดินใหม่

สาระสำคัญของกฎหมายภาษีที่ดินใหม่ ได้จำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดินออกเป็น 4 ประเภทคือ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานภาษีสูงสุดไม่เกิน 0.15% และยังจำแนกประเภทเจ้าของที่ดินออกเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วย โดยในส่วนอัตราภาษีนั้นแบ่งเป็น 5 ขั้นคือ 0-75 ล้านบาทจัดเก็บ 0.01%, 75-100 ล้านบาทจัดเก็บ 0.03%, 100-500 ล้านบาทจัดเก็บ 0.05%, 500-1,000 ล้านบาทจัดเก็บ 0.07% และตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 0.1% แต่กรณีบุคคลธรรมดามีที่ดินเกษตรกรรมมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่เกิน 50-100 ล้านบาทจัดเก็บ 0.01 (ล้านละ 100 บาท) เท่านั้น (รายละเอียดอัตราภาษีดูในตาราง)

2.ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย กำหนดเพดานจัดเก็บ 0.3% แบ่งอัตราจัดเก็บ 4 ขั้น โดยหากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาทจัดเก็บ 0.02%, 50-75 ล้านบาท 0.03%, 75-100 ล้านบาท 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป 0.1% โดยกรณีบุคคลธรรมดาหากเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะได้รับยกเว้นภาษี (บ้านหลักมีชื่อเป็นเจ้าของ) ส่วนบ้านหลังที่ 2 เก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกเป็นต้นไป

3.ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม กำหนดเพดานสูงสุด 1.2% แบ่งอัตราจัดเก็บเป็น 5 ขั้นตั้งแต่ 0.3-0.7% ทำให้ภาระภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ ที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทจะเสียภาษี 150,000 บาท/ปี (0.3%) แต่ในส่วนของโรงเรียน โรงพยาบาล และสนามกีฬามีมาตรการบรรเทาภาระโดยให้เพิ่มการหักลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จัดเก็บภาษีเริ่มต้น 0.3% และปรับเพิ่มขึ้น 0.3% ในทุก 3 ปีแต่สูงสุดไม่เกิน 3% อย่างไรก็ตามมีบทเฉพาะกาลในการบรรเทาภาระภาษีให้เป็นเวลา 4 ปีอีกด้วย.

“ห้องแถว-ข้าวแกง” กระเทือน!

หากพิจารณาเนื้อหากฎหมายภาษีที่ดินใหม่กันอย่างผิวเผิน ทุกฝ่ายต่างเชื่อว่าคงไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยทั่วไป เพราะส่วนใหญ่ 90% ถือครองที่ดินในระดับราคาไม่เกิน 5–10 ล้านบาทที่ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว

อีกทั้งกระทรวงการคลังยังได้วางมาตรการลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรชาวไร่ชาวนาให้อยู่แล้ว โดยยกเว้นภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของบุคคลธรรมดาที่อาจมีหลายแปลงหากตั้งอยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทก็ให้ได้รับการยกเว้นภาษีไปเลย เพื่อป้องกันการตีความแบบ “ศรีธนญชัย” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

แต่กระนั้นสิ่งที่แฝงอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ที่คลังยังไม่ได้ให้ความกระจ่างแก่ผู้คนก็คือ แต่เดิมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของเรานั้นไม่มีการแยกประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดินสิ่งปลูกสร้างกันมาก่อนว่าเป็นบ้านที่อยู่อาศัย หรือทำมาค้าขาย เราจึงเห็นผู้คนเอาบ้านมาทำห้องเช่าห้องแถว เอาบ้านพักอาศัยมาทำร้านค้า โชห่วยพรึ่บเต็มเมือง

แต่กฎหมายภาษีที่ดินใหม่ได้แบ่งแยกประเภทการใช้ที่ดินเพื่อจัดเก็บภาษีเอาไว้อย่างชัดเจน!!!

นั่นหมายถึงว่าเมื่อถึงคราวประเมินภาษีตามโครงสร้างใหม่ บรรดาห้องแถว อาคารพาณิชย์ที่เจ้าของนำไปตั้งร้านค้า ข้าวแกง ซักรีดเสื้อผ้า หรือเปิดร้านค้าโชห่วยเล็กๆน้อยๆไม่ว่าจะตั้งอยู่ในซอยละลายทรัพย์ ย่านสีลม ชิดลม สุขุมวิท ตลอดแนวถนนลาดพร้าว สุขุมวิท พระราม 4 หรือตามหัวเมืองในต่างจังหวัด

ที่ดินสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะถูกตีความว่าเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทอื่นๆที่ไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัยและต้องเสียภาษีตามราคาประเมินตั้งแต่ “บาทแรก” ในอัตรา 0.3% สูงสุดไม่เกิน 0.7% ในทันที!

ผลที่ตามมาบรรดาห้องแถว ขายข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวที่ตั้งอยู่ในทำเลทองที่เดิมไม่เคยต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือเสียน้อย กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบในวงกว้าง และโดยเฉพาะบรรดากิจการที่ใช้ที่ดินมากแต่ให้ผลตอบแทนต่ำอย่างสถานีบริการน้ำมัน-แก๊ส คาร์แคร์ ตลาดสดใจกลางเมือง อพาร์ตเมนต์ สถานที่จอดรถในอนาคตอันใกล้ไม่อาจสร้างรายได้จ่ายภาษีที่ดินตามโครงสร้างใหม่ได้แน่.

เปิด “ช่องโหว่” อปท.ทุจริต!

เหนือสิ่งอื่นใดแม้จะอ้างว่ากฎหมายใหม่ได้กำหนดมาตรการบรรเทาภาระภาษี ให้ระยะเวลาปรับตัวไว้ถึง 3-4 ปี แต่ในส่วนของผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น กฎหมายภาษีที่ดินใหม่ที่กำหนด “ระวางโทษทางอาญา” เอาไว้ด้วยนั้นกำลังจะทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ

แปลให้ง่ายการถือครองที่ดิน สิ่งปลูกสร้างจากนี้ไปไม่ว่าจะมากหรือน้อยชีวิตต่างแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่มีสิทธิ์ติดคุกเอาได้ทุกเมื่อ เพราะกฎหมายใหม่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งประเมิน เรียกเก็บภาษีโดยให้ถือเป็นรายได้ท้องถิ่น และยังให้อำนาจท้องถิ่น ยึด อายัด รวมทั้งขายทอดตลาดได้เองอีกด้วย

จุดนี้ถือเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ และ “อันตราย” อย่างยิ่ง!

จะเกิดอะไรขึ้นหาก อปท.ได้แจ้งให้เจ้าของที่ดิน ห้องเช่า ห้องแถว หรือคาร์แคร์ไปชำระภาษีตามที่ได้ประเมินออกมาแต่เจ้าของที่ดินไม่ยอมรับหรือดำเนินการตาม ซึ่งไม่เพียงจะถูกเรียกเก็บเบี้ยปรับตั้งแต่ 25-50% แล้ว ยังระวางโทษ ทางอาญากรณีไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของเจ้าพนักงานด้วยอีก ถือเป็น “ครั้งแรก” ที่คดีหลีกเลี่ยงภาษีมีโทษทางอาญาพ่วงด้วยซึ่งถือเป็นจุดอันตรายของกฎหมายฉบับนี้

เพราะนิยาม “การแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี” นั้นกว้างครอบจักรวาล แค่เจ้าของที่ดินจดแจ้งเสียภาษีไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ประเมินไว้ก็มีสิทธิ์งานเข้าได้ทุกเมื่อ!

ประเด็นนี้ นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีโอกาสส่งผลกระทบในวงกว้าง

เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่มีความซับซ้อนในเชิงปฏิบัติ มีการแบ่งประเภทการใช้ที่ดินและกำหนดอัตราภาษีเป็นขั้นบันไดนั้นจะ “เปิดช่อง” ให้เกิดการทุจริตได้ง่าย เพราะไม่ได้มีการระบุไว้ชัดเจนทำให้ต้องมีการตีความถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ขณะเดียวกันการจัดเก็บภาษีตาม “มูลค่าสินทรัพย์” โดยไม่คำนึงถึงรายได้ที่แท้จริงของธุรกิจจะส่งผลทำให้ธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ต้องถูกบังคับขายทิ้งตามมาเป็นพรวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะมีการหารือเพื่อรวบรวมผลกระทบ และสะท้อนปัญหาที่ยังคงเป็นข้อกังวลเหล่านี้ไปยังรัฐบาลเพื่อให้ทบทวนเนื้อหาหลักการในบางจุดต่อไป

********

ไม่ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังการผลักดัน “พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จะเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระตุ้นให้เกิดการนำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์ ดังที่กระทรวงการคลังป่าวประกาศ หรือมี “วาระซ่อนเร้น” ที่เอื้อให้นายทุน “แลนด์ลอร์ด” ทั้งหลายมีโอกาสตักตวงและเก็บเกี่ยวที่ดิน “ราคาถูก” ที่ต้องถูกบังคับขายจากอัตราภาษีใหม่ได้ง่ายขึ้น

แต่วันนี้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ ได้ถูกทำคลอดกันออกมาแล้ว เราก็ได้แต่หวังว่าบรรดาข้อกังวลที่สะท้อนออกไปข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นจริงๆ

หาไม่แล้ว รัฐบาล คสช.และ สนช.ชุดประวัติศาสตร์นี้จะถูกบันทึกเป็น “ตราบาป” ว่าคือผู้อยู่เบื้องหลังปล้นผืนแผ่นดินที่เหลืออันน้อยนิดนี้ไปจากพี่น้องเกษตรกรและประชาชนคนไทยไปตลอดศก!!!

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ