เร่งแก้ไข่ราคาตก ส่งออกต่างประเทศ 60 ล้านฟอง เอกชนยอมเฉือนเนื้อขาดทุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เร่งแก้ไข่ราคาตก ส่งออกต่างประเทศ 60 ล้านฟอง เอกชนยอมเฉือนเนื้อขาดทุน

Date Time: 7 พ.ย. 2561 19:13 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • "พาณิชย์" แก้ไข่ไก่ล้นตลาดราคาตกต่ำ ส่งขายต่างประเทศ 60 ล้านฟอง หลังเอกชนยอมเฉือนเนื้อขาดทุน 15 ล้านบาท และเก็บเข้าห้องเย็น 60 ล้านฟอง พร้อมกระจายผ่านธงฟ้า 10 ล้านฟอง ตั้งเป้าดึงราคาขึ้น 2.8

"พาณิชย์" แก้ไข่ไก่ล้นตลาดราคาตกต่ำ ส่งขายต่างประเทศ 60 ล้านฟอง หลังเอกชนยอมเฉือนเนื้อขาดทุน 15 ล้านบาท และเก็บเข้าห้องเย็น 60 ล้านฟอง พร้อมกระจายผ่านธงฟ้า 10 ล้านฟอง ตั้งเป้าดึงราคาขึ้น 2.8 บาท/ฟอง...


เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุ ได้หารือร่วมกับกรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยและรายใหญ่ รวมทั้งผู้ส่งออกไข่ไก่ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำในปัจจุบัน โดยราคารับซื้อไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.30 บาท/ฟอง ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนผลิตไข่ไก่ที่อยู่ที่ 2.80 บาท/ฟอง และบางพื้นที่ผู้เลี้ยงรายย่อยขายได้ต่ำกว่า 2 บาท/ฟอง เนื่องจากขณะนี้มีไข่ไก่ล้นตลาดถึง 60 ล้านฟอง หรือความต้องใช้การบริโภค 2-3 วันถึงจะหมด และยังมีไข่ไก่ส่วนเกินออกใหม่เข้ามาสมทบสต็อกอีกวันละ 10 ล้านฟอง หรือมีไข่ไก่ออกสู่ตลาด 50 ล้านฟอง/วัน มากกว่าการบริโภค 40 ล้านฟอง/วัน

ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนที่จะแก้ไขปัญหา คือ ดึงไข่ไก่ส่วนเกินออกจากระบบ ดังนั้นที่ประชุมได้ข้อสรุปแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ ของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) หรือขออนุมัติจากงบกลาง 15 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ส่งออกไข่ไก่ให้ผลักดันไข่ไก่ออกตลาดต่างประเทศ 60 ล้านฟอง ระยะเวลา 3 เดือน

“การส่งออกไข่ไก่ 60 ล้านฟอง จะใช้เงิน 30 ล้านบาท ในจำนวนนี้ผู้ค้าจะขาดทุนจากการส่งออก 50 สตางค์-1 บาท/ฟอง แบ่งเป็นรัฐและผู้ค้าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอย่างละครึ่ง คือ ผู้ส่งออกยอมขาดทุน 15 ล้านบาท เพื่อส่งออกไข่ไก่ ส่วนอีก 15 ล้านบาท ภาครัฐช่วยจะช่วยเป็นค่าใช้จ่ายบรรจุภัณฑ์ คัดเกรด เป็นต้น ให้กับผู้ส่งออก” นายวิชัย กล่าว

นอกจากนี้ จะของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) วงเงิน 130-140 ล้านบาท มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้เลี้ยงในการนำไข่ไก่ 60 ล้านฟองเก็บเข้าห้องเย็น เพื่อดึงไข่ไก่ออกจากระบบเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องนำกลับมาคืนรัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการใช้มาตรการ และการผลักดันให้มีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันไข่ไก่ 10 ล้านฟอง ขายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ 45,000 แห่ง และขายผ่านงานมหกรรมธงฟ้าอีก 20 จังหวัด เพื่อเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ให้มากขึ้น

“หลังจากที่มีข่าวว่าจะออกมาตรการช่วยเหลือไข่ไก่ไปนั้น ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มวันนี้ปรับขึ้นมา 20 สตางค์ อยู่ที่ 2.50 บาท/ฟอง โดยเชื่อว่าหลังจากใช้มาตรการดังกล่าวแล้วจะทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะดึงราคาไข่ไก่ให้ขึ้นมาอยู่ที่ 2.80 บาท/ฟอง เป็นราคาที่ผู้เลี้ยงไม่ขาดทุน ซึ่งจะเร่งทำเรื่องของบคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อดำเนินการให้เร็วที่สุด” นายวิชัย กล่าว

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทางกรมปศุสัตว์จะรับผิดชอบในการหยุดการเพิ่มของผลผลิตไข่ไก่ โดยจะลดปริมาณไก่ยืนกรงจาก 57 ล้านตัว เหลือ 52 ล้านตัว หรือลดลง 10% จะทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดจาก 48 ล้านฟอง/วัน เหลือ 40 ล้านฟอง/วัน ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค และมีแผนจะลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่จาก 550,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ซึ่งจะต้องจัดทำรายละเอียดอีกครั้งว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบลดการผลิตไข่ไก่ลงไปแค่ไหน แต่จะยกเว้นรายย่อยไม่ต้องดำเนินการตามแผนที่กำหนดนี้

ด้านนายสุรชาติ กำหอม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า สมาคมฯ จะเข้ามาช่วยเรื่องการผลักดันไข่ไก่ออกต่างประเทศ โดยตลาดส่งออกไข่ไก่สำคัญของไทยคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และตะวันออกกลาง แต่ก็จะหาตลาดอื่นๆ เพิ่มเติม และจะผลักดันจาก 50 ตู้ เพิ่มเป็น 200 ตู้ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายดึงส่วนเกินไข่ไก่ออกจากระบบ

ขณะที่ นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า พอใจกับมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหากผลักดันให้ราคาไข่ไก่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เกษตรกรไม่ขาดทุน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ