จีดีพีเกษตรไตรมาส 3 พุ่งปรี๊ด 3.7% สศก.ชี้!อากาศดี๊ดีดันพืชผลงอกงาม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จีดีพีเกษตรไตรมาส 3 พุ่งปรี๊ด 3.7% สศก.ชี้!อากาศดี๊ดีดันพืชผลงอกงาม

Date Time: 2 พ.ย. 2561 08:30 น.

Summary

  • นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3 ปี 61 ในเดือน ก.ค.-ก.ย.61 ขยายตัว 3.7%

Latest

เปิดคำตีความคณะกรรมการกฤษฎีกา “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ขาดคุณสมบัติ!



นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3 ปี 61 ในเดือน ก.ค.-ก.ย.61 ขยายตัว 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 โดยเป็นการเติบโตด้านผลผลิตเป็นหลัก เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศ และการบริหารจัดการของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ดี ส่งผลให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มากขึ้นในระบบส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่

ทั้งนี้ ดัชนีรายได้เกษตรกรไตรมาส 3 ปี 2561 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 140.5 หรือเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 138.7 โดยรายได้เกษตรกรในหมวดพืชผลเพิ่มขึ้น 6.0% จากกลุ่มพืช อาหาร และกลุ่มไม้ผล เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในแต่ละสาขาแล้วพบว่า สาขาพืช ไตรมาส 3 ปี 61 ขยายตัว 6.8% โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวย

ส่วนสินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มันสำปะหลัง มีความต้องการใช้เพื่อผลิตแป้งมันและเชื้อเพลิงเอทานอลต่อเนื่อง, ลำไย มีความต้องการบริโภคในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายผลผลิตออกนอกจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตผ่านตลาดประชารัฐ อาทิ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น ส่วนทุเรียน, มังคุด ผลผลิตออกสู่ตลาดมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้ราคาสูงขึ้น

นางสาวจริยา กล่าวว่า สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 0.2% โดยปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น คือ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ แต่อย่างไรก็ตาม ราคาไก่เนื้อโดยเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น, ราคาสุกรลดลง เพราะผลผลิตมากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศที่ค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้น จากการระบายผลผลิตไข่ไก่สดไปยังต่างประเทศ เพื่อรักษาระดับราคาในประเทศ เป็นต้น ส่วนสาขาป่าไม้ขยายตัว 2.0% โดยผลผลิตป่าไม้สำคัญ คือ ไม้ยางพารา ครั่ง และรังนกเพิ่มขึ้น “เศรษฐกิจการเกษตรปี 61 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 4.0-5.0% โดยทุกสาขาการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น มีปัจจัยบวกจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย ประกอบกับการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ