ลุ้น สนช.ไฟเขียวภาษีที่ดิน "คลัง" ถอยเพิ่มค่าลดหย่อน 90% เอาใจเอกชน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุ้น สนช.ไฟเขียวภาษีที่ดิน "คลัง" ถอยเพิ่มค่าลดหย่อน 90% เอาใจเอกชน

Date Time: 1 พ.ย. 2561 08:35 น.

Summary

  • กระทรวงการคลังพร้อมเดินหน้า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการสามัญฯ “วิสุทธิ์” มั่นใจกลางเดือน พ.ย. เข้าสู่พิจารณาวาระ 2 และ 3 คุยลั่นผ่าน สนช. ...

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

กระทรวงการคลังพร้อมเดินหน้า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการสามัญฯ “วิสุทธิ์” มั่นใจกลางเดือน พ.ย. เข้าสู่พิจารณาวาระ 2 และ 3 คุยลั่นผ่าน สนช. แน่นอน หลังปรับลดอัตราภาษี ยกเว้นภาษีและเพิ่มค่าลดหย่อน คาดรายได้ลบวูบเหลือ 2.9 หมื่นล้านบาท จากเดิมเก็บรายได้แสนล้านบาท

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ได้พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้ว โดยคาดว่า กลางเดือน พ.ย. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเริ่มต้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวาระที่ 2 และ 3 ตามลำดับ เพื่อให้กฎหมายประกาศใช้ได้ภายในปีนี้ และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2563

“คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่ได้สงสัยหรือติดใจอะไรอีกแล้ว ก็สามารถนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ต่อไป และหาก สนช.ไม่มีข้อสงสัยใดๆอีก มั่นใจว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะประกาศใช้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว เป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา การพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว มีการแก้ไข และปรับปรุงหลายเรื่อง โดยในครั้งแรก คาดว่า ท้องถิ่นจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเป็นแสนล้านบาท แต่จากการประเมินล่าสุด หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว 1 ปี คือปี 2564 ท้องถิ่นจะจัดเก็บรายได้ 29,000 ล้านบาทต่อปี และนับไปอีก 4 ท้องถิ่นจะจัดเก็บรายได้เพิ่ม 39,000-40,000 ล้านบาท เนื่องจากร่างกฎหมายใหม่มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากกล่าวคือ มีทั้งการยกเว้นภาษี ลดอัตราภาษี และเพิ่มค่าลดหย่อน เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี

ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการฯ ยังคงประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษีไว้ 4 รายการเหมือนเดิมแต่อัตราภาษีลดลงไปมากประกอบด้วย 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร กรณีบุคคลธรรมดา รายเล็กมีที่ดินทำกินราคาประเมิน ไม่ถึง 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี แต่หากที่ดินมีราคาประเมินเกินกว่า 50 ล้านบาท จะถูกคิดภาษีในอัตรา 1 ล้านบาท เสียภาษี 100 บาท ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินมีราคาประเมิน 60 ล้านบาท เสียภาษี 1,000 บาท ถ้าที่ดินมีราคาประเมิน 70 ล้านบาท เสียภาษี 2,000 บาท แต่จะมีการบรรเทาภาระภาษี โดยในช่วง 3 ปีแรกจะยกเว้นภาษี ส่วนกรณีบริษัทนิติบุคคลรายใหญ่ เช่น ฟาร์ม หรือเกษตรกรรายใหญ่ จะเสียตั้งแต่บาทแรกและไม่มียกเว้นภาษี 3 ปี

2.ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย กรณีบ้านหลังหลัก ราคาประเมินที่ดินบวกสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากราคาเกินกว่า 50 ล้านบาท จะคิดในอัตรา 1 ล้านบาท เสียภาษี 200 บาท ถ้าบ้านราคาประเมิน 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 2,000 บาทต่อปี ส่วนบ้านหลังรอง (หลังที่ 2 ขึ้นไป) จะเก็บตั้งแต่ 1 บาทแรก แต่ช่วงแรกทุกๆ 1 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 200 บาท หลังจากนั้นจะเก็บเป็นขั้นบันได ส่วนกรณีอพาร์ตเมนต์และบ้านเช่านั้น โดยหลักแล้วเจ้าของที่ดินเป็นผู้เสียภาษี แต่จะมีการผลักภาระให้แก่ผู้เช่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ตกลงกัน

3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม อัตราภาษีที่จะจัดเก็บเป็นขั้นบันได ตัวเลขที่พิจารณาในขณะนี้ คือ จะไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป โดยจัดเก็บเป็นขั้นบันไดสูงสุดไม่เกิน 0.7% ของประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีหลักการคือ ที่ดินที่อยู่อาศัย หรือการเกษตร จะไม่อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนโรงเรียน โรงพยาบาล สนามกอล์ฟและสนามกีฬา กฎหมายจะมีหักค่าลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 90% เช่น โรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนเพื่อไม่ ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและให้เข้าถึงระบบการศึกษาโดยเสมอภาคก็จะลดหย่อนให้สูงสุด เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน และสนามกีฬา โดยจะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อเป็นแนวทางให้ท้องถิ่นปฏิบัติตาม

และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อให้มีการใช้ที่ดินและก่อให้เกิดมูลค่าต่อระบบเศรษฐกิจ กฎหมายระบุ เจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องแบกรับภาระหนักที่สุด โดยเสียภาษีในอัตราสูงสุดไม่เกิน 3% ของราคาประเมิน โดยทุกๆ 3 ปี จะเสียภาษีเพิ่ม 0.2-0.3% จนครบ 27 ปี หากยังไม่ทำประโยชน์ใดๆ จะเสียภาษีในอัตรา 3% แต่ถ้าที่ดินผืนนั้นมีการใช้ประโยชน์ในปีใดปีหนึ่ง ก็จะยกเลิกการเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า

นอกจากนี้ กฎหมายยังผ่อนปรนเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นให้อีก 4 ปี ยกตัวอย่างเช่น เดิมที่ต้องเสียภาษี 1,000 บาท แต่อัตราภาษีใหม่ จะต้องเสียเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 บาทนั้น จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น 1,000 บาทจะแบ่งเป็น 4 งวด แบบขั้นบันไดโดยปีแรก จะเสียภาษีเป็น 1,250 บาท ปีที่ 2 เป็น 1,500 บาท ปีที่ 3 เป็น 1,750 บาท จนถึงปีที่ 4 จะเสียภาษี 2,000 บาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ