คู่แข่งสำคัญต้องรับมือ!! ข้าวต้าหัวเชียงจีน-ข้าวพื้นนิ่มเวียดนาม ตีตลาดหอมมะลิไทยกระจุย เหตุมีความนิ่มเหมือนกัน แต่ราคาถูกกว่ามาก นักวิชาการ แนะเกษตรกรไทย เร่งผลิตข้าวนุ่มพันธุ์อื่นๆ สู้...
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการทำตลาดข้าวพื้นนิ่ม หรือพื้นนุ่มในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน ที่ปัจจุบันพบว่าผู้นำเข้าเริ่มลดการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิไทย แล้วหันมาสั่งซื้อข้าวพื้นนิ่มจากเวียดนาม และพันธุ์ต้าหัวเชียงของจีน แทน หากไทยไม่มีมาตรการรับมือ หรือพัฒนาข้าวพื้นนิ่มของไทยไปสู้ในตลาดโลก ในอนาคตอาจทำให้ตลาดข้าวหอมมะลิไทยถูกข้าวจากเวียดนามและของจีนแย่งตลาดได้ เพราะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยมาก
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาแนวทางพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มของเวียดนาม และข้าวหอมมาลี อังกอร์ ของกัมพูชา ที่พัฒนาได้เร็วมาก และกำลังจะเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย ที่ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาความหอมลดลงมาก หากไม่พัฒนาความหอมและคุณภาพกลับคืนมา ประเทศเพื่อนบ้านอาจพัฒนาข้าวขึ้นมาเทียบเท่ากับไทยได้
“ตอนนี้ กรมการค้าภายใน มอบหมายให้ศูนย์ฯ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าว เพื่อนำมาใช้ส่งเสริมให้ชาวนาไทยได้ปลูกข้าวที่ตลาดต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในจีน ที่ตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อข้าวหอมมะลิไทยลดลง และซื้อข้าวนิ่มเวียดนามและพันธุ์ต้าหัวเชียง กันมากขึ้น ยกเว้นในภัตตาคาร ร้านอาหาร และโรงแรม ที่ยังต้องการข้าวหอมมะลิไทย เพราะเป็นข้าวระดับพรีเมียม”
ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลว่าในอนาคตอาจมีการนำข้าวพันธุ์ต้าหัวเชียงของจีน ซึ่งมีความนิ่ม และมีความหอม ที่แม้จะหอมน้อยกว่าข้าวหอมมะลิไทยก็ตาม เข้ามาปลูกในประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อส่งออกไปตลาดจีน หรือตลาดอาเซียนอื่น ที่นิยมบริโภคข้าวพื้นนิ่มกันมาก เพราะข้าวพันธุ์ต้าหัวเชียงจะมีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยถึง 50%
สำหรับข้าวของไทยที่น่าจะแข่งขันกับข้าวพันธุ์นิ่มของเวียดนามได้ เช่น พันธุ์ กข 21 ที่ให้ผลผลิตสูงถึง 600-700 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ ซึ่งกรมการข้าวได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบนเพาะปลูก ทั้งในฤดูกาลผลิตข้าวเปลือกนาปีและนาปรัง ประมาณ 30,000 ไร่ คาดจะให้ผลผลิตลอตแรกปีนี้ประมาณ 21,000 ตัน โดยสมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาด เพื่อจูงใจในการเพิ่มพื้นที่ปลูก และทำตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป.