ยกเครื่องสายการบินแห่งชาติ ผ่าตัดใหญ่บินไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยกเครื่องสายการบินแห่งชาติ ผ่าตัดใหญ่บินไทย

Date Time: 29 ต.ค. 2561 05:02 น.

Summary

  • ปัญหาที่ถาโถมมาระลอกแล้วระลอกเล่าพุ่งตรงมาที่สายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ผลดำเนินงานที่ขาดทุนมาต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน เป็นปัญหาที่คาราคาซัง ...

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ปัญหาที่ถาโถมมาระลอกแล้วระลอกเล่าพุ่งตรงมาที่สายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ผลดำเนินงานที่ขาดทุนมาต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน เป็นปัญหาที่คาราคาซัง แม้ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย แต่ยังไม่มีใครเข้ามาแก้ไขได้สำเร็จ

ล่าสุดยังเจอวิกฤติศรัทธาด้านบริการ จากเหตุการณ์นักบินชิงเก้าอี้ผู้โดยสารในเที่ยวบินทีจี 971 ซูริก-กทม. เข้าไปอีก

ผลประกอบการไม่ดีแล้ว ภาพลักษณ์ยังน่าเป็นห่วง เพราะกรณีไฟลท์ TG971 ที่รื้อค้นไปมา สาเหตุไม่ใช่แค่เรื่องที่นั่งธรรมดา แต่ต้นตอเกิดจากความขัดแย้งภายในองค์กร ระหว่างกลุ่มนักบิน และนายสถานีซูริก สวิตเซอร์แลนด์

“ทีมเศรษฐกิจ” จึงขอประมวลสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นของการบินไทย ควบคู่ไปกับการฉายภาพให้เห็นถึงสิ่งที่ “นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คนใหม่ล่าสุด จะบริหารให้เกิดขึ้นในอนาคตภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการที่รัฐบาลสั่งให้เร่งจัดทำ

เราในฐานะคนไทยคงต้องมาช่วยลุ้นกันอีกครั้ง ว่าในที่สุดการบินไทยจะผงาดขึ้นมาได้เหมือนกับเครื่องที่กำลัง “เทก ออฟ” แล้วทะยานต่อได้หรือไม่

5 ปี ขาดทุน 3 หมื่นล้าน

เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการย้อนหลังไป 5 ปี จะพบสภาพปัญหาของการบินไทยที่มีการขาดทุนกว่า 30,000 ล้านบาท

โดยข้อมูลที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ปี 2557 รายได้ 203,966 ล้านบาท ขาดทุน 15,611 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 192,723 ล้านบาท ขาดทุน 13,067 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 181,446 ล้านบาท กำไร 15.14 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 190,534 ล้านบาท ขาดทุน 2,107 ล้านบาท

ส่วนปี 2561 แม้จะยังไม่ครบปี แต่ล่าสุดในรอบ 3 ไตรมาสก็ขาดทุนไปแล้วมากกว่า 2,000 ล้านบาท

หากจะรื้อค้นว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้การบินไทยมีสภาพเช่นนี้ มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ ปัญหาบุคลากร วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน จนทำให้ประสิทธิภาพการแข่งขันของการบินไทยสาละวันเตี้ยลงไป สวนทางกับสายการบินเอกชนอื่นที่แคล่วคล่องว่องไวกว่า

โดยข้อมูลปี 2556 การบินไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 37% แต่ผ่านไป 5 ปี ถึงปี 2561 สัดส่วนลดลงเหลือ 27.3% และหากการบินไทยไม่ปรับตัวเลยจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของการบินไทยลดลงเหลือ 10% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

สายการบินแห่งชาติล้มไม่ได้

แม้สภาพการบินไทยวันนี้จะดูไม่จืด แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้ล้มได้ ในฐานะที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แถมยังมีศักดิ์ศรีสายการบินแห่งชาติค้ำคอ เผือกร้อนก้อนนี้จึงลุกลามไปถึงมือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี” ต้องลงมาไล่บี้ให้รีบจัดทำแผนการฟื้นฟูกิจการบริษัทโดยเร็ว พร้อมๆกับแผนจัดซื้อเครื่องบินภายใน 3 เดือน

ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์อยู่ 5 ข้อหลัก ได้แก่ 1.สร้างกำไรจากการเพิ่มรายได้ ควบคุมต้นทุน และนำรูปแบบธุรกิจของสายการบินต้นทุนต่ำมาปรับใช้บริหารการบินไทยให้ทันต่อสถานการณ์การแข่งขัน และสอดรับกับความต้องการของลูกค้า

2.การปรับปรุงหน่วยธุรกิจให้เป็นศูนย์กำไร (Profit Center) ที่เติบโต แสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และบริหารจัดการสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 3.การปรับปรุงงานบริการแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด หรือที่เรียกกว่าการเดินหน้าเจาะตลาดด้วยกลยุทธ์นีชมาร์เกต

4.การนำเอาเทคโนโลยี และแอปพลิเคชันใหม่ๆมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิ-ภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่การบินไทย 5.การบริการงานบุคคล โดยเน้นโครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมองค์กร ภาวะผู้นำ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถ

“หากทำไม่ได้ก็จะเด้งให้พ้นจากตำแหน่ง” คือสิ่งที่รองฯสมคิด กล่าวไว้ ไม่ว่าจะเป็น “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร” ที่มานั่งเป็นประธานบอร์ดการบินไทย หรือ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” ที่ให้ขึ้นแท่นบริหารตัวจริง หลังจากปล่อยให้มวยแทนนั่งรักษาการมานาน

นายสมคิดขีดเส้นขึงขังให้ดีดีคนใหม่ทำงานให้เห็นหน้าเห็นหลัง เพราะมองว่า “ยังพอมีความหวังที่จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินชั้นนำของไทยได้ เพราะได้เห็นถึงแผนยุทธศาสตร์ที่เสนอให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้วพบว่า การบินไทยยังมีโอกาสฟื้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังไปได้ดี และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนก็เติบโต ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสของการบินไทย”

ปรับองคาพยพขนาดใหญ่

จากโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น นายสุเมธ ดีดีการบินไทยคนใหม่ ได้กล่าวยอมรับกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า “จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่องค์กรครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อพลิกฟื้นองค์กรให้กลับมาติด 1 ใน 5 สายการบินชั้นนำระดับโลก และหลุดพ้นจากปัญหาขาดทุนสะสมในปี 2565”

สิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจากการขาดทุนสะสม ต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไป เพราะตอนนี้ปัญหาการบินไทยเสมือนวัฏจักร เมื่อความสามารถในการแข่งขันการบินไทยถดถอย ก็กระทบต่อรายได้ เมื่อรายได้ลดลง ก็กระทบต่อการจัดหาเครื่องบินใหม่มาบริการ

ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการเพิ่มความสามารถการแข่งขัน

สิ่งที่สำคัญก็คือ การปรับทัศนคติคนในองค์กร โดยปลูกฝังแนวคิด “ลูกค้าต้องมาก่อน” เพราะเมื่อก่อนการบินไทยจะมุ่งทำงานโดยวางขั้นตอนของบริการที่คิดว่าดีที่สุด แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ความคาดหวังของผู้โดยสารให้ได้รับการบริการที่ตอบสนองกับความคาดหวัง
ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า

แต่ยอมรับว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และย่อมมีแรงต่อต้านแน่นอน เพราะแต่ไหนแต่ไรมา การทำงานของคนบินไทยส่วนใหญ่ยึดอัตตาตัวเองเป็นสำคัญ เห็นได้จากกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมามีข่าวนักบินเตรียมตัวที่จะขอสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงขอขึ้นเงินเดือน ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาการขาดทุน

ซึ่งการเข้ามาแก้โครงสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้มีใจบริการ หรือ service mind หากทำได้ก็ดี เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของงานด้านบริการ แต่หากลูกค้ายังไม่ประทับใจแบบนี้ ก็จะทำให้การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน หรือยอดผู้โดยสารคงลำบาก

จัดทำแผนฟื้นฟู ABCDE

นายสุเมธ กล่าวว่า ขณะเดียวกันแผนยุทธศาสตร์การบินไทยก็ต้องมีการปรับกันอีกยกใหญ่ให้สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อหยุดปัญหาขาดทุน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกำหนดไว้ 5 ด้าน ABCDE

ประกอบไปด้วย 1.Aggressive Profit สร้างการทำกำไรเชิงรุก 2.Business Portfolio บริหารภาพรวมกลุ่มธุรกิจ 3.Customer Experience สร้างประสบการณ์ลูกค้า

4.Digital Technology ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม และ 5.Effective Human Capital Management เสริมประสิทธิภาพบุคลากร และการบริหารเงินทุน

“เป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน ใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล มองแนวทางเพิ่มรายได้ใน 2 กลุ่มธุรกิจนอกเหนือการบิน คือ 1.รายได้จากธุรกิจซ่อมบำรุง และ 2.รายได้จากธุรกิจครัวการบิน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน จาก 10% เป็น 15-20% ของรายได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันจะคงรักษาอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) ให้อยู่ในระดับ 80%”

นอกจากนี้ จะต้องทบทวนการสั่งซื้อเครื่องบิน 23 ลำ มูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ให้เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของการบินไทย รวมทั้งเร่งปรับแผนเส้นทางบินในภาพรวมทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาเครื่องบินที่จะมาประจำฝูงบิน โดยอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินกว่า 100,000 ล้านบาทด้วย

ตลอดจนให้ปรับแบบของเครื่องบินให้จำนวนแบบลดลง เพราะหากมีเครื่องบินจำนวนมากแบบจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงของการบินไทย

ปั้นหารายได้ทุกทิศทาง

“พร้อมกันนั้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์ เพราะที่ผ่านมายังเทียบกับสายการบินโลคอสต์แอร์ไลน์ไม่ได้เลย จึงต้องทำระบบอี-มาร์เกตติ้งกันใหม่ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่นิยมจองตั๋วออนไลน์เพิ่ม”

ดังนั้น การบินไทยต้องหั่นสัดส่วนการขายตั๋วคืนจากเอเย่นต์ มารุกขายผ่านออนไลน์แทน ซึ่งจะเกิดรายได้และทำให้การบินไทยทำโปรโมชันได้คล่องตัวมากขึ้น

และในการปรับตัวล่าสุด การบินไทยได้ชนะการประมูลโครงการจัดหาอาหารกล่องและเครื่องดื่มบริการผู้โดยสารบนรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 ทุกมาตรฐานในเที่ยวไปและเที่ยวกลับของบริษัท ขนส่ง จำกัด อายุสัมปทาน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.61-31 ต.ค.64 จะมีรายได้จากโครงการนี้รวม 330 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 110 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังประมูลชนะโครงการจัดหาขนมให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงเตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการจำหน่ายอาหารบนรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพราะปัจจุบันครัวการบินไทยมีความชำนาญในการผลิตอาหารและขนมกล่องถึงวันละ 80,000 ชุด จึงมั่นใจภายในปีงบประมาณ 2562 ครัวการบินไทยจะมีรายได้ถึง 8,600 ล้านบาท

ส่วนแผนการหารายได้จากการซ่อมบำรุง ปัจจุบันการบินไทยมีรายได้จากส่วนนี้ 3,000 ล้านบาท แต่หลังจากนี้ได้เปิดหาพันธมิตรยักษ์ใหญ่ทางการบินเข้าร่วมทุน สร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเซ็นสัญญาร่วมลงทุนได้ในเดือน ธ.ค.2561 วงเงิน 4,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดระยะแรกได้ปี 2565 รองรับการซ่อมได้สูงสุด 80-100 ลำต่อปี โดยซ่อมได้ทั้งเครื่องแอร์บัสเอ 350, แอร์บัสเอ 380 และโบอิ้ง 787 ให้มีรายได้ 400-500 ล้านบาทต่อปี คืนทุนได้ใน 11 ปี และจะสร้างรายได้รวมในช่วง 50 ปี กว่า 200,000 ล้านบาท

********

ท้ายที่สุด ดีดีการบินไทยเชื่อมั่นว่า การบินไทยยังมีความหวังสามารถพลิกวิกฤติกลับมาสร้างโอกาสทำกำไรได้ “อย่างที่มีคนถามผมว่าการเข้ามารับตำแหน่งดีดีการบินไทยกดดันหรือไม่ ผมก็ยอมรับว่าไม่ได้กดดันเพราะการบินไทยขาดทุน แต่กดดันจากความคาดหวังของพนักงานมากกว่า”

ดังนั้น จึงอยากให้พนักงานทุกคนร่วมมือกันที่จะช่วยกันรักองค์กร ให้ช่วยกันนำพาองค์กรก้าวผ่านอุปสรรคไปแบบมั่นคงและยั่งยืนด้วยกัน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ