ลากยาวที่ราชพัสดุหมอชิต ครม.อนุมัติแค่หลักการสั่งธนารักษ์ทำ "อีไอเอ"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลากยาวที่ราชพัสดุหมอชิต ครม.อนุมัติแค่หลักการสั่งธนารักษ์ทำ "อีไอเอ"

Date Time: 25 ต.ค. 2561 06:40 น.

Summary

  • ครม.กระอักกระอ่วนเห็นชอบหลักการ โครงการมหากาพย์พัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 ครั้งนี้เสนอใหม่มูลค่า 26,916 ล้านบาท

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

ครม.กระอักกระอ่วนเห็นชอบหลักการ โครงการมหากาพย์พัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 ครั้งนี้เสนอใหม่มูลค่า 26,916 ล้านบาท มีทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม แต่ ครม.สั่งกรมธนารักษ์ไปเจรจากับ BKT อีกรอบให้เพิ่มผลตอบแทนพร้อมทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัด คาดลากยาวต่อไปอีก

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมอบหมายให้กรมธนารักษ์ไปเจรจากับเอกชนคู่สัญญาเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น รวมทั้งให้ไปจัดทำรายละเอียดของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอให้ชัดเจน และเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด เรื่องการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ รวมทั้งกำหนดให้ไปจัดทำ ตามกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 เพื่อเป็นที่ตั้งโรงจอดรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง และประโยชน์ทางราชการ โดยกรมธนารักษ์ได้เปิดประมูลและคัดเลือกบริษัท ซันเอสเตท จำกัด ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ BKT เป็นผู้ดำเนินโครงการ และมีมติ ครม. วันที่ 7 พ.ค.2539 เห็นชอบผลการคัดเลือก ซึ่งในขณะนั้น มีมูลค่า 18,190 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นเสมือนมหากาพย์ที่มีเรื่องราวมากมายตลอดจนเกิดการฟ้องร้องกันหลายรอบ จนโครงการต้องสะดุดหยุดลง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้พัฒนาและใช้เป็นที่จอดรถสำหรับคนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า ขณะที่กรมธนารักษ์เคยเสนอการพัฒนาโครงการนี้ที่เป็นโครงการใหม่เข้า ครม.อีกหลายครั้ง ได้รับความเห็นชอบในหลักการ แต่ถูกตั้งข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนต้องกลับไปทบทวนใหม่

ทั้งนี้ ล่าสุดกรมธนารักษ์ได้นำเสนอเรื่องนี้เข้า ครม.อีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้ร่างสัญญาใหม่ที่ยังคงทำกับ BKT โดยชี้แจงว่า เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้วว่ายังไม่มีการบอกเลิกสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการกับ BKT และกรมธนารักษ์ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป และที่ผ่านมา BKT ไม่มีเหตุผิดสัญญาแต่ประการใด ทำให้สัญญายังคงมีผลผูกพัน จึงเห็นว่าการแก้ไขสัญญาเป็นแนวทางดำเนินโครงการที่ดีที่สุดภายใต้หลักการที่ทางราชการได้รับผลตอบแทน ทั้งในรูปตัวเงินและทรัพย์สินไม่น้อยกว่าเดิม

สำหรับร่างสัญญาใหม่ที่เสนอมา มีมูลค่าโครงการ 26,916 ล้านบาท ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม มีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ 712,350 ตารางเมตร (ตร.ม.) แบ่งเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 600,350 ตร.ม. และพื้นที่ชดเชยราชการ 112,000 ตร.ม. มีค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์ 550 ล้านบาท มีค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างก่อสร้าง 509,300 บาท ค่าเช่าในช่วง 5 ปีแรก คิดปีละ 5.35 ล้านบาท ส่วนค่าเช่าในทุกช่วง 5 ปีถัดไปให้ชำระเพิ่มขึ้น 15% ของอัตราค่าเช่าเดิมในระยะ 5 ปี โดยกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี และสามารถใช้สิทธิขอต่ออายุ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี โดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน 2556

อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วแสดงความเห็นว่า การแก้ไขสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการ ที่ยังคงผลตอบแทนภาครัฐไว้ที่เท่าเดิมตามสัญญาเดิม คือ ค่าเช่าที่ดินนั้นอาจไม่สอดรับกับศักยภาพพื้นที่ในปัจจุบันและไม่สะท้อนถึงศักยภาพของสินทรัพย์ของรัฐอย่างแท้จริง เพราะพื้นที่โดยรอบได้มีการพัฒนาโดยรัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงข่ายรถไฟฟ้า ศักยภาพพื้นที่จึงเพิ่มสูงขึ้นเห็นได้จากราคาที่ดินปรับสูงขึ้น โดยราคาซื้อขายของที่ดินแปลงดังกล่าวปี 2539 อยู่ที่ตารางวา (ตร.ว.) ละ 150,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินล่าสุดของกรมธนารักษ์ ที่ดินบนถนนพหล-โยธินเฉลี่ยที่ ตร.ว.ละ 200,000-280,000 บาท

นอกจากนี้ นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ครม.ได้เห็นชอบการกำหนดแนวทาง มาตรการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหากรณีที่หน่วยงานของรัฐ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ปรับอัตราค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่หน่วยราชการอื่นได้เช่าใช้ประโยชน์ โดยปรับอัตราค่าเช่าเพิ่มสูงมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยกำหนดให้ใช้เป็นแนวทางเท่านั้นไม่ได้มีการบังคับ โดยขึ้นอยู่กับการเจรจา โดยเน้นเฉพาะหน่วยงานรัฐต่อรัฐและกรณีที่ใช้เงินงบประมาณเท่านั้น ซึ่งที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ ให้ปรับปรุงอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3% ต่อปี โดยอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยดัชนีราคาผู้บริโภคในระบบเวลา 5 ปี และให้ทบทวนอัตราในการปรับปรุงค่าเช่าทุกๆ 5 ปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ