ครม.เทงบ 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อใจชาวไร่อ้อย 3.4 แสนคนผ่าวิกฤติน้ำตาล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.เทงบ 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อใจชาวไร่อ้อย 3.4 แสนคนผ่าวิกฤติน้ำตาล

Date Time: 11 ต.ค. 2561 08:15 น.

Summary

  • ครม.อุ้มชาวไร่อ้อย 3.5 แสนราย เคาะเงินช่วยเหลือซื้อปัจจัยการผลิต 1.56 หมื่นล้านบาท ย้ำชัดไม่ขัดระเบียบ WTO เพราะรัฐบาลอุดหนุนไม่เกิน 10% ของมูลค่าอุตสาหกรรม 1.3 แสนล้านบาท...

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.อุ้มชาวไร่อ้อย 3.5 แสนราย เคาะเงินช่วยเหลือซื้อปัจจัยการผลิต 1.56 หมื่นล้านบาท ย้ำชัดไม่ขัดระเบียบ WTO เพราะรัฐบาลอุดหนุนไม่เกิน 10% ของมูลค่าอุตสาหกรรม 1.3 แสนล้านบาท คาดช่วยให้ชาวไร่อ้อยอยู่ได้ในยามที่ราคาตลาดโลกตกต่ำ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิต 2561/2562 วงเงินรวม 15,600 ล้านบาท แยกเป็นเงินงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท จ่ายให้ชาวไร่อ้อยตันละ 50 บาท ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน และเงินจากกลไกของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่โรงงานจะจ่ายตรงให้อีก 9,100 ล้านบาท จ่ายให้ตันละ 70 บาท รวมเป็นตันละ 120 บาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ย.2561-เม.ย. 2562 ซึ่งการใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในวงเงิน 6,500 ล้านบาท ไม่ถือว่าขัดต่อพันธกรณีองค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากมูลค่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในฤดูการผลิตปี 2561/2562 มี 130,000 ล้านบาทต่อปี การอุดหนุนจึงไม่เกิน 10% หรือ 13,000 ล้านบาท ถือเป็นการอุดหนุนที่เล็กน้อยที่รัฐดำเนินการได้

ทั้งนี้ จากงบประมาณทั้ง 2 ส่วนสำหรับช่วยเหลือชาวไร่อ้อย จะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ที่ราคาประมาณ 800 บาทต่อตัน มาจากการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 680 บาท รวมกับเงินช่วยเหลืออีกตันละ 120 บาท รวมเป็น 800 บาท และเมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกษตรกร ชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880-900 บาทต่อตัน ที่ค่าความหวานเฉลี่ย 12.35 ซี.ซี.เอส

“ราคาอ้อยและน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำพอสมควรเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาอ้อยอยู่ที่ประมาณตันละ 680 บาท จากที่ผ่านมาตันละ 900-1,000 บาท จึงส่งผลกระทบโดยตรงกับพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังปรับตัวกับโครงสร้างใหม่ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลชาวไร่อ้อย ซึ่งมี 2 ส่วนคือ ส่วนแรกรัฐบาลให้การช่วยเหลือเงินไปซื้อปัจจัยการผลิตในอัตราตันละ 50 บาท และส่วนที่ 2 คือชาวไร่อ้อยและโรงงานช่วยเหลือตัวเอง โดยนำเงินส่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้ในอัตราตันละ 70 บาทรวมการช่วยเหลือ 120 บาทต่อตัน เมื่อรวมแล้วจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 800-900 บาท จะทำให้ชาวไร่อ้อยอยู่ได้ในช่วงนี้ และเป็นการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกคน 340,000 ราย ไม่ใช่เฉพาะรายใหญ่”

นายอุตตมกล่าวว่า โครงการนี้จะร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเงิน 50 บาทต่อตันที่รัฐสนับสนุนจะจ่ายเงินเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยโดยตรงไม่ผ่านใคร ส่วนเงินสนับสนุนจากกลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาล-ทรายในอัตราตันละ 70 บาทนั้น โรงงานจะเป็นผู้จ่ายให้ชาวไร่อ้อยโดยตรง

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประเมินปริมาณอ้อยเบื้องต้นพบว่า ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 คาดว่า จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 130 ล้านตัน มีพื้นที่ปลูก 12.07 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 10.92 ตันต่อไร่ โดยมีจำนวนเกษตรกรชาว ไร่อ้อยที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 340,000 ราย ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กสามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการผลิตที่จำเป็นและมีผลตอบแทนเพียงพอสำหรับนำไปเป็นเงินทุน หมุนเวียนในการประกอบอาชีพและแก้ไขปัญหาโรคและแมลงศัตรูอ้อย รวมทั้งด้านการเพาะปลูก และบำรุงรักษาอ้อย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยมีระยะเวลาการเปลี่ยน ผ่านในช่วง 2 ปีแรกคือ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 และปี 2561/2562

“ขณะนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าใหม่ๆมีมูลค่าสูงเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการแปรรูป โรงงาน และผู้บริโภค ซึ่งได้ดำเนินการมาประมาณ 1 ปีแล้ว ในการปรับโครงสร้าง คือการปรับแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อให้สามารถนำน้ำอ้อยไปทำอย่างอื่นได้นอกเหนือจากน้ำตาลซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา”

สำหรับสถานะของกองทุนอ้อยและน้ำตาล-ทราย ณ วันที่ 31 ส.ค. มีจำนวน 9,701 ล้านบาทโดยมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆที่ต้องดำเนินการ เช่น จ่ายเงินชดเชยกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิต และการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูกาลประมาณ 18,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่า ณ สิ้นปี 2561 เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะอยู่ ที่ติดลบ 7,797 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ