พาณิชย์ เผยเหล็กสำเร็จรูปส่วนเกินล้นตลาดโลก ฉุดราคาเหล็กในประเทศลดตาม ทำดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน ก.ย.61 ดิ่ง ส่งผลดีต่อโครงการก่อสร้างเล็กน้อยเท่านั้น...
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2561 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ราคาเศษเหล็กในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สำหรับเหล็กสำเร็จรูปกลับมีราคาลดลงมาก เนื่องจากมีปริมาณเหล็กส่วนเกินจำนวนมาก โดยเฉพาะจากจีน ส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของไทยในเดือน ก.ย.61 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนส.ค.61 โดยดัชนีอยู่ที่ 108.9 ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.61 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก 1.1% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ขณะที่ดัชนีเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.60 เพิ่มขึ้น 1.5% และดัชนีเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 61 เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
”ขณะนี้ ราคาเหล็กสำเร็จรูปลดลงมากตามราคาตลาดโลก เพราะมีปริมาณเหล็กส่วนเกินจำนวนมาก ประกอบกับมีปริมาณเหล็กนำเข้าเพิ่มขึ้นและราคาต่ำ รวมถึงช่วงนี้ฝนตกชุก เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง จึงทำให้ราคาเหล็กสำเร็จรูปในประเทศลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และประชาชนที่จะซ่อมแซมบ้านเรือน หรือสร้างบ้านใหม่” ผู้อำนวยการ สนค. กล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรณีการมีปริมาณเหล็กส่วนเกินในโลกจำนวนมาก ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพราะโดยปกติ จีนผลิตเหล็กจำนวนมากอยู่แล้วในแต่ละปี แต่ทั่วโลกมีความพยายามเรียกร้องให้จีนลดกำลังการผลิตลง ขณะที่จีนก็มีแผนลดกำลังการผลิตเหล็กในช่วงปลายปี ที่เข้าสู่ฤดูหนาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม หากจีนลดกำลังการผลิตลงจำนวนมากจริง น่าจะทำให้ราคาเหล็กในตลาดโลกขยับสูงขึ้นได้อีก
ผู้อำนวยการ กล่าวอีกว่า ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน ก.ย.61 เมื่อเทียบเดือน ก.ย.60 แม้จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 แต่ก็เพิ่มขึ้นเพียง 1.5% เป็นเพราะดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ 2.7% แต่เดือน ก.ย.60 เพิ่มสูงถึง 9.1% ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ในเดือน ก.ย.61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน โดยหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 0.2% หมวดซีเมนต์ เพิ่ม 0.5% หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต เพิ่ม 1.5% หมวดกระเบื้อง เพิ่ม 2.8% หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพิ่ม 2.5% แต่หมวดวัสดุฉาบผิว ลด 0.1% หมวดสุขภัณฑ์ ลด 0.5% และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลด 0.8%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า คาดว่า แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ตามแรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ ที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้เช่นกัน สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ไทยมีกรอบการเลือกตั้งที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง.