2 รายชิงดำแหล่งปิโตรเลียม พลังงานมั่นใจปิดดีล ก.พ.62 คราวนี้ไม่มีล่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

2 รายชิงดำแหล่งปิโตรเลียม พลังงานมั่นใจปิดดีล ก.พ.62 คราวนี้ไม่มีล่ม

Date Time: 26 ก.ย. 2561 10:01 น.

Summary

  • เปิดรายชื่อเอกชนยื่นประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียม ตัวจริงเสียงจริงมาครบ ทั้ง ปตท.สผ.-เชฟรอน ยันได้ผู้ชนะ ธ.ค.61 นี้ ก่อนเซ็นสัญญากับภาครัฐ ก.พ.62 ยอมรับคนยื่นซองประมูลน้อยกว่าคาด

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก

เปิดรายชื่อเอกชนยื่นประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียม ตัวจริงเสียงจริงมาครบ ทั้ง ปตท.สผ.-เชฟรอน ยันได้ผู้ชนะ ธ.ค.61 นี้ ก่อนเซ็นสัญญากับภาครัฐ ก.พ.62 ยอมรับคนยื่นซองประมูลน้อยกว่าคาด แต่ยังเชื่อมั่นมีเงินลงทุนสะพัด 1.2 ล้านล้านบาทแน่

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมากรมฯได้เปิดให้บริษัทเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ เข้ายื่นข้อเสนอขอรับสิทธิ์ สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย 2 แหล่งคือบงกชและเอราวัณ โดยแต่ละรายต้องยื่นเอกสาร 4 ซองประกอบด้วยซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค และ 4 เอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย

ทั้งนี้ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการมายื่นคำขอประมูลในฐานะผู้ดำเนินงาน แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ 2 ราย คือ 1.บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) ร่วมกับบริษัท MP G2 (Thailand) Limited (บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด) 2.บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ร่วมกับบริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. (บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์-โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด) สำหรับแปลง G2/61 หรือแหล่งบงกช 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอป-เม้นท์ จำกัด) 2.บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. (บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด) ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. (บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด)

“กรมฯจะทำการเปิดซองเอกสาร เพื่อพิจารณารายละเอียดตามขั้นตอนตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.นี้เป็นต้นไป โดยจะเปิดซองโดยคณะอนุกรรมการ พิจารณาการให้สิทธิโดยจะเปิดเฉพาะซองลำดับที่ 1-3 เท่านั้น เพื่อพิจารณาว่าผู้เข้าประมูลรายใดชนะการคัดเลือกในรอบนี้ ก่อนเปิดซองที่ 4 เป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลในเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป คาดว่าจะเซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้เดือน ก.พ.62”

ส่วนที่หลายคนอยากทราบว่า ภาครัฐรู้สึกผิดหวังหรือไม่ ที่มีผู้มายื่นซองประกวดราคาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้หลังมีคนมาซื้อซองจำนวนมาก นายวีระศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า มีคนมายื่นซองน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจเป็นเพราะศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวมีน้อยเกินไป และไม่จูงใจนักลงทุนให้เข้ามา แต่มั่นใจว่าผู้เข้ายื่นซองครั้งนี้มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม และจะเกิดการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาทแน่นอน

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า แม้จะมีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบนี้ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย คือ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแต่ก็ยังมีการคัดค้านให้ไปใช้ระบบรับจ้างผลิต และขู่ว่าผู้ที่ดำเนินการประมูลอาจถูกฟ้องร้องในมาตรา 157 ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ตนและคณะทำงานทุกคน ขอยืนยันว่า ได้เดินหน้าปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายตั้งแต่เดือน เม.ย.59 เริ่มตั้งแต่กระบวนการปฏิบัติตามกฎหมาย, การปฏิบัติตามพระราช บัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม และการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเพื่อให้รองรับการประมูล, การร่างกฎกระทรวงพลังงานเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การเสนอขออนุมัติต่อ กพช. และ ครม.จนทำให้ทุกขั้นตอนเดินหน้ามาจนถึง 25 ก.ย. ถือว่าทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แล้ว ส่วนบุคคลใดที่มีข้อสงสัยหรือคัดค้านก็ขอให้รอกระบวนการพิจารณาของศาลที่จะเป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องนี้

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯมีความพร้อมที่จะแสดงให้เห็นว่าเชฟรอนคือพันธมิตรสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ที่ควรได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในการพัฒนาแหล่งเอราวัณและบงกชเพื่อประโยชน์ของคนไทย และมั่นใจว่าข้อเสนอทั้ง 4 ซองที่ยื่นประมูล ของบริษัทฯมีความเหมาะสมให้ภาครัฐพิจารณาอย่างแน่นอน

ส่วนนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.เชื่อมั่นว่าความรู้ ประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชตลอดระยะเวลา 25 ปีจึงได้ยื่นข้อเสนอในการประมูลที่จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ