สั่งเดินหน้าประมูล 'ศิริ' เมินม็อบต้านเอราวัณ-บงกช คาดได้ 8 แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สั่งเดินหน้าประมูล 'ศิริ' เมินม็อบต้านเอราวัณ-บงกช คาดได้ 8 แสนล้าน

Date Time: 25 ก.ย. 2561 04:35 น.

Summary

  • “ศิริ” เมินม็อบต้านเดินหน้ารับซองเอกชนแข่งประมูล “แหล่งเอราวัณ-บงกช” 25 ก.ย.นี้ มั่นใจได้ผู้ชนะปลายปี คาดรัฐจะได้เงินจากการพัฒนา 2 แหล่งนี้ ถึง 8 แสนล้านบาท...

Latest

รัฐหนุน“สุราชุมชน”เต็มสูบ

“ศิริ” เมินม็อบต้านเดินหน้ารับซองเอกชนแข่งประมูล “แหล่งเอราวัณ-บงกช” 25 ก.ย.นี้ มั่นใจได้ผู้ชนะปลายปี คาดรัฐจะได้เงินจากการพัฒนา 2 แหล่งนี้ ถึง 8 แสนล้านบาท ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานร้อยละ 80 ในปีแรก และอย่างน้อยร้อยละ 90 ในปีที่ 5 ด้าน สอท.-สหภาพ แรงงาน ปตท.-กฟผ.ตบเท้าแห่ให้กำลังใจเต็มเหนี่ยว

หลังจากยืดเยื้อมานานสำหรับการจัดประมูลการสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ “เอราวัณ-บงกช” ในที่สุดเมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือกับคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานว่า ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเปิดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ ตามขั้นตอนต่างๆ มีสิทธิเข้าร่วมประมูลการสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/2561 (แหล่งเอราวัณ) ที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565 และ G2/2561 (แหล่งบงกช) หมดอายุสัมปทานในปี 2566 สามารถยื่นแผน การดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการประกวดราคา

นายศิริกล่าวว่า ในเดือน พ.ย.นี้ กรมเชื้อเพลิงฯ จะวิเคราะห์เงื่อนไขทางด้านเทคนิค ให้มีความชัดเจนว่าข้อเสนอใดมีจุดเด่น เพื่อเสนอให้คณะกรรมการปิโตรเลียม และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบ ตามด้วยประกาศชื่อผู้ได้รับสัมปทานดำเนินงานต่อไป และลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ทั้ง 2 แหล่งในเดือน ก.พ. 2562 ตามแผนที่กำหนดไว้เดิม เพื่อให้ผู้ชนะประมูล เป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับภาครัฐให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยในขณะนี้เหลือเวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น และในปี 2563 จะต้องเลือกแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเลที่มีศักยภาพในการดำเนินงานจากทั้งหมดที่มี 278 แท่น เพื่อส่งมอบให้ผู้ประกอบการ โดยเงื่อนไขสำคัญคือผู้รับสัญญาสัมปทานต้องสามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่องทันทีที่สิ้นสุดอายุสัมปทานในช่วงข้ามคืนวันที่ 23 เม.ย.2565 ณ เวลา 00.00 น. และเข้าสู่วันที่ 24 เม.ย.2565 ตั้งแต่เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป เพื่อให้มั่นใจว่าจะผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันสองแหล่งได้ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่ให้กระทบโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ รวมทั้งราคาต้องไม่กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าให้สูงไปกว่าปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2.60 บาทต่อหน่วย

สำหรับผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นที่มีสิทธิ์เสนอเอกสารเข้าร่วมประมูลวันที่ 25 ก.ย.นี้ ประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัทเชฟรอน จำกัด 2.บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 3.บริษัท มูบาดาลา จำกัด และ 4.บริษัท โททาล จำกัด ส่วนแหล่งบงกช มี 3 รายได้แก่ 1.บจก.เชฟรอน 2.ปตท.สผ. 3.มูบาดาลา

นายศิริกล่าวด้วยว่า ยอมรับขณะนี้เหลือเวลาแค่ 3 ปี เรียกว่าหมิ่นเหม่เรื่องเวลาในขั้นตอนต่างๆ หากล่าช้าไปกว่านี้จะทำให้ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ประกอบการที่มาดำเนินการต่อได้ทันเวลา และหากไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่องจะกระทบเป็นปัญหาลูกโซ่ โดยภาคเอกชนจะต้องยื่นเอกสารจำนวน 4 ซองให้คณะกรรมการพิจารณาพร้อมกัน ประกอบด้วย ซองด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย ซองการยอมรับเงื่อนไขให้ภาครัฐเข้าร่วมในสัดส่วนร้อยละ 25 ซองข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนการลงทุน แผนการพัฒนาแหล่ง แผนช่วงรอยต่อ และแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และซองด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยการประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชในครั้งนี้ คาดว่าการพัฒนา 2 แหล่งนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไร ประมาณ 800,000 ล้านบาท ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทยในสัดส่วนร้อยละ 80 ในปีแรก และอย่างน้อยร้อยละ 90 ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ในการประกวดราคา ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท และยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียน ในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ หากกลุ่มใดมีข้อสงสัยในการเปิดประมูลครั้งนี้ สามารถสอบถามหรือยื่นข้อเสนอมายังกระทรวงพลังงานได้ จะมีข้าราชการชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกกลุ่ม

ด้านนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในโอกาสเข้าพบ รมว.พลังงาน เพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้เปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชให้สำเร็จว่า ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงหากการประมูลล่าช้าไปมากกว่านี้ จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพราะค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น และอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะไม่เกิดขึ้น และมองว่าการคัดค้านไม่ให้เปิดประมูลในแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าว แล้วให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)จากต่างประเทศได้ แต่เราก็ไม่มีที่รับและเก็บแอลเอ็นจี เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 3-4 ปี นั่นหมายความว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติจะหายไป เทียบเท่ากับโรง ไฟฟ้าขนาด 1,200 เมกะวัตต์ต่อโรง หายไป 10โรง ซึ่งไม่ใช่กระทบความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ แต่รวมถึงรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย

เช่นเดียวกับ นางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (สร.ปตท.) ที่แสดงจุดยืนความต้องการให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจในสิ่งที่จะทำให้ประเทศและประชาชนไม่เสี่ยงกับการขาดแคลนพลังงานหรือตกอยู่ในภาวะที่ต้องใช้พลังงานในราคาที่สูงเกินความจำเป็น จึงต้องการให้รัฐบาลดำเนินการตามแผนที่กำหนด เนื่องจากมีความล่าช้ามาก ทำให้เสียโอกาสในการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมกับความจำเป็น ซึ่ง สร.ปตท.ขอสนับสนุนการเปิดประมูลที่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน เพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางพลังงานประเทศ และปกป้องคนงานทั้งหมดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและห่วงโซ่อุปาทาน ทั้งปิโตรเลียมขั้นต้น และปิโตรเลียมขั้นปลาย ทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจให้ได้รับความเป็นธรรมและมั่นคงในงาน

ส่วนนายพนมทวน ทองน้อย รองประธานบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.กฟผ.) กล่าวว่าปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ใช้ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 70 ดังนั้นเป็นห่วงการรักษาความมั่นคงต่อเนื่อง ซึ่ง สร.กฟผ.ต้องการให้การประมูลครั้งนี้มีความเป็นธรรมโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม เรื่องนี้ถือว่าข้อมูลทั้งสองด้านอาจไม่ตรงกัน ทำให้มีมุมมองและความคิด ไม่เข้าใจกัน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ