อดีตผู้แทนการค้าไทยเปลือยธาตุแท้เศรษฐกิจไทยหาคำตอบได้จากตัวเลข ชี้จีดีพีที่ขยายตัวดีต่อเนื่องไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจครัวเรือนจะดีตาม เปิดตัวเลขรายรับ-รายจ่ายครอบครัวไทยในช่วง 5 ปี 2556-2560 เพิ่มขึ้น 31 บาทต่อเดือน แต่เมื่อสแกนลึกลงรายจังหวัดพบ 37 จังหวัดรายได้ครัวเรือนกลับลดลง
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานตัวเลขรายได้และรายจ่ายครัวเรือนไทยที่พบว่า ตั้งแต่ปี 2556-2560 รายได้ครัวเรือนโดยรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 31 บาทต่อเดือน แต่เมื่อพิจารณาลงลึกรายจังหวัดกลับพบว่ามีถึง 37 จังหวัดที่รายได้ครัวเรือนลดลง เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่มีเพียง 34 จังหวัด โดยเฉพาะครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร มีรายได้ในปี 2558 ลดลง 3,619 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วนในปี 2560 รายได้ครัวเรือนกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น 136 บาท ทำให้รายได้เฉลี่ยของกรุงเทพมหานครยังคงต่ำกว่ารายได้ที่เคยได้รับในปี 2556 เช่นเดียวกับภาคเหนือและภาคใต้ สำหรับภาคอื่นๆ ถึงแม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนกลับพบว่าเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ ทำให้ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น และถือว่าเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ตามรายงานของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ได้มาจากรายงานโดยที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) พบว่าเงินทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาลดลงจากประมาณ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 490,000 ล้านบาท ในปี 2556 เหลือเพียง 1,500 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 49,000 ล้านบาท ในปี 2559 เท่านั้น โดยนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม ที่ปัจจุบันยอดการลงทุน FDI ไหลเข้าทะลุหมื่นกว่าล้านเหรียญฯ ไปแล้ว ขณะที่ตัวเลขการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จะมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี ต่างจากตัวเลขของ UNCTAD
ด้านการส่งออกยังพบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยยังคงอยู่ที่ประมาณ 220,000- 230,000 ล้านเหรียญฯต่อปี หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาท ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2560 เท่านั้น ซึ่งเกือบจะไม่เพิ่ม ขึ้นเลย เรียกได้ว่าการส่งออกติดลบ แต่ถ้าดูเฉพาะปี 2560 จะพบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกถึง 10% ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากฐานมูลค่าการส่งออกของปี 2559 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ
“เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นปัญหาระยะสั้น หรือระยะยาว หรือเกิดจากปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง”
ส่วนการลงทุนของภาครัฐนั้น นายปานปรีย์กล่าวว่า แม้วันนี้รัฐบาลจะพยายามอัดฉีดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านหลายโครงการ แต่การเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ยังล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยปีงบประมาณ 2560 การเบิกจ่ายงบในส่วนของรายจ่ายลงทุนนั้นต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 21% แต่ก็คาดว่าในปีงบประมาณ 2561 น่าจะทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น จากการเข้าไปศึกษาตัวเลขรายได้-รายจ่ายของครัวเรือนไทยในช่วงระหว่างปี 2556-2560 แค่เพียงเรื่องเดียว ก็พอจะอธิบายได้แล้วว่า ทำไมประชาชนส่วนใหญ่จึงยังรู้สึกว่า “เศรษฐกิจแย่” ในขณะที่รัฐบาลบอกว่า “เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น” โดยไม่ต้องไปดูเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) หรือการส่งออกที่ไม่ได้ขยายตัวขึ้นจริงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“การที่รัฐบาลออกมาแถลงว่าจีดีพีของประเทศขยายตัวต่อเนื่องดีขึ้นเป็นลำดับ และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ก็รายงานภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปี 2561 ว่า จีดีพีโต 4.6% ซึ่งจะส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 4.8% จึงไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจในภาคครัวเรือนไทยจะดีด้วยเสมอไป”
นายปานปรีย์ ยังระบุว่า รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขโดยการสร้างงานเพิ่ม สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเม็ดเงินที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ต้องไม่กระจุกตัวอยู่เพียงกับกลุ่มผู้มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ต้องกระจายทั่วถึงไปยังผู้มีรายได้ปานกลาง และผู้มีรายได้น้อยด้วย.