นายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.จนถึงปัจจุบัน มีร้านค้ารายย่อยสมัครเข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐแบบใช้โทรศัพท์มือถือรับชำระค่าสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” แล้ว 26,690 ราย กระทรวงพาณิชย์ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและส่งให้กรมบัญชีกลางอนุมัติแล้ว 10,162 ราย โดยร้านที่ได้รับการอนุมัติและดาวน์โหลดแอปฯ มาใช้แล้ว 10,000 ราย จากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายจะมีร้านค้าย่อยเข้าร่วมโครงการ 100,000 ราย และมีเงินใช้จ่ายผ่านแอปฯ 133 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐตั้งแต่เริ่มโครงการเดือน ต.ค.ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท มียอดใช้จ่ายเดือนละ 4,000 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่ร้านค้าเข้าร่วมโครงการน้อยมากจากการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ กับร้านค้ารายย่อยในพื้นที่ต่างๆ พบว่า ร้านค้ารายย่อยบางรายไม่เข้าใจการใช้งานแอปฯ บางส่วนที่เข้าใจแล้วจะบอกว่า ใช้งานยาก โดยเฉพาะร้านค้าที่มีคนขายเพียงรายเดียว การรับชำระเงินผ่านแอปฯ ที่มีหลายขั้นตอนทำให้เสียเวลามาก ขายเป็นเงินสดดีกว่า อีกทั้งร้านค้าบางรายไม่ต้องการเข้าสู่ระบบภาษี เพราะยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการลงบัญชี
ขณะที่ปัญหาของผู้ถือบัตรนั้น ในบางพื้นที่ไม่มีสาขา หรือไม่มีตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ทำให้ผู้ถือบัตรไม่สามารถเปลี่ยนรหัสในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเลข 6 หลัก เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ถือบัตรได้ก่อนการชำระเงินผ่านแอปฯ ได้ ซึ่งเมื่อไม่สามารถเปลี่ยนรหัสได้ ก็ไม่สามารถชำระเงินผ่านแอปฯ ได้ จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้มีร้านค้าย่อยเข้าร่วมโครงการน้อย และยอดใช้จ่ายผ่านบัตรน้อยมาก
“กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับกระทรวงการคลังให้ปรับปรุงการใช้แอปฯให้ง่ายขึ้นแล้ว แต่ระหว่างนี้ จะประสานธนาคารกรุงไทยให้นำรถเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่มีสาขาหรือตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้บริการเปลี่ยนรหัสบัตรและโหลดแอปฯ ให้กับร้านค้า นอกจากนี้ ยังสั่งให้พาณิชย์จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์โครงการมากขึ้นแล้ว”
ส่วนกรณีมีนายหน้ารับกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม โดยหักเงินจากผู้ถือบัตร 20-40 บาทนั้น เป็นเรื่องจริง โดยพบที่ อ.วังสมบูรณ์ และ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เนื่องจากผู้ถือบัตรไม่เข้าใจวิธีกดเงิน และหากเดินทางมาเองจะเสียค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งกรณีดังกล่าว ตนมองว่า ไม่ควรเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องเร่งแก้ปัญหา.