ปลัดคมนาคมป้ายแดง ชูนโยบาย “สมาร์ท ทรานสปอร์ต” ให้ทุกคนเข้าถึงขนส่งสาธารณะ ผ่านยุทธศาสตร์ 4 ด้าน เพิ่มประสิทธิภาพระบบคมนาคม ให้มีความปลอดภัย เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ควบคู่แก้ปัญหาจราจร...
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงแนวนโยบายการบริหารงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ว่า จะทำงานโดยชูนโยบาย “สมาร์ท ทรานสปอร์ต” เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างมีความสุข โดยนำนวัตกรรม เช่น แอปพลิเคชันต่างๆ เข้ามาช่วย ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายสมาร์ท ซิตี้ของรัฐบาล
นอกจากนั้น จะใช้ยุทธศาสตร์คมนาคม 4 ด้าน ในการขับเคลื่อนนโยบาย คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพระบบคมนาคมขนส่ง ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 2.การพัฒนาความปลอดภัยในระบบขนส่งสาธารณะ 3.การเร่งแก้ปัญหาจราจร และ 4.การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรัฐบาลไทยได้มีการลงนามในข้อตกลงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับหลายประเทศไว้
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า และที่สำคัญที่สุดคือ จากนี้กระทรวงคมนาคมจะต้องใช้ยุทธศาสตร์นำการพัฒนา ไม่ใช่ใช้โครงการนำเหมือนที่ผ่านมา รวมไปถึงการจัดทำงบประมาณประจำปีด้วย โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป หากหน่วยงานไหนเสนอของบประมาณ โดยไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่ตอบโจทย์นโยบายได้ ไม่ต้องเสนอของบประมาณมา เพราะจะไม่อนุมัติงบประมาณให้แน่นอน
“ผมเป็นปลัดสั้นๆ เพียง 2 ปี เท่านั้น ต้องเร่งทำงานต้องเริ่มนับ 1 ให้ได้ กับนโยบาย สมาร์ท ทรานสปอร์ต เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะที่มีความสุข หากกรมไหน หน่วยไหน ไม่กำหนดยุทธศาสตร์มาในแผนเสนอของบประมาณ ผมก็จะไม่อนุมัติงบประมาณให้ ”
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงคมนาคมจะต้องกลับไปจัดทำโครงการใหม่ๆ ภายใต้นโยบาย สมาร์ท ทรานสปอร์ต มาเสนอกระทรวงด้วย เช่น กรมทางหลวง อาจจะต้องเสนอโครงการสมาร์ท โรด นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาจัดทำถนนอัจฉริยะเพื่อลดอุบัติเหตุ เป็นต้น, บริษัท การท่าอากาศยาน จำกัด(มหาชน) และกรมท่าอากาศยาน อาจจะต้องไปทำโครงการสมาร์ทแอร์พอต เหมือนกับประเทศสิงคโปร์
อย่างไรก็ตามใน 4 ยุทธศาสตร์ที่จะนำมาขับเคลื่อนนโยบายนั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องการหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆภายนอกกระทรวงเพิ่มเติมด้วยเพื่อให้เดินหน้าได้ เช่น ยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาความปลอดภัยในระบบขนส่งสาธารณะ อาจจะต้องหารือเพิ่มเติมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขอให้เข้ามาสนับสนุนโครงการพัฒนาความปลอดภัยในระบบขนส่งสาธารณะ, หารือกับกระทรวงคลัง เพื่อขอยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจขนส่งที่ใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยต่อไปกรมการขนส่งทางบกจะต้องทำโครงการกรีนทรานสปอร์ต โดยกลับไปคิดรูปแบบวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมานำเสนอ เช่นการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าในระบบสาธารณะ เป็นต้น.