นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน กรมในฐานะคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ระบายข้าวได้หมดสต๊อกทั้ง 17.76 ล้านตัน มูลค่า 146,000 ล้านบาท และนำเงินส่งคืนกระทรวงการคลังแล้ว ที่สำคัญสามารถหยุดความเสียหายจากค่าบริหารจัดการข้าว ทั้งค่ารักษาคุณภาพและค่าฝากเก็บข้าวในโกดัง มูลค่า 93,600 ล้านบาท โดยคำนวณจากค่าฝากเก็บข้าว 17.76 ล้านตัน ที่เดือนละ 1,800 ล้านบาท หรือวันละ 60 ล้านบาท
“ขณะนี้มีกระแสข่าวกังวลความเสียหายของการระบายข้าว ยืนยันว่า รัฐบาลระบายข้าวอย่างเป็นระบบ โปร่งใส เป็นธรรม และแบ่งกลุ่มข้าวที่จะระบายชัดเจน แต่ที่ไม่สามารถแยกข้าวทุกกระสอบออกมาระบายได้ เพราะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าจะแยกข้าวและระบายได้หมด ซึ่งจะเกิดความเสียหายจากการนำภาษีประชาชนมาใช้เป็นค่าจัดเก็บเดือนละ 1,800 ล้านบาท จึงแบ่งข้าวเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ข้าวเพื่อการบริโภคของคน กลุ่ม 2 ข้าวที่คนบริโภคไม่ได้ และกลุ่ม 3 ข้าวที่คนและสัตว์บริโภคไม่ได้ แยกตลาดชัดเจนและขายยกคลัง ซึ่งตามสัญญาที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ทำกับคู่สัญญา คือ เจ้าของคลังที่รัฐเช่าฝากเก็บข้าว และบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพ (เซอร์เวเยอร์) คู่สัญญาต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับข้าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง”
ด้านนางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงการคลัง น่าจะเชิญประชุมเร็วๆนี้ เพื่อปิดบัญชีรอบวันที่ 30 ก.ย.61 ซึ่งกรมจะส่งข้อมูลการระบายข้าวทั้งหมดให้ และคณะอนุกรรมการจะนำข้อมูลขายข้าวและค่าบริหารจัดการสต๊อก รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆมาสรุปปิดบัญชีโครงการรับจำนำ จึงจะรู้มีผลขาดทุนเท่าไร และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณา ขณะที่การรับมอบข้าวของผู้ชนะการประมูลนั้น ล่าสุด อคส.รายงานว่า มีข้าวที่ค้างการรับมอบ หรือผู้ชนะประมูลไม่ขนข้าวออกจากโกดัง 655,000 ตัน โดยอ้างติดปัญหาคุณภาพ เช่น ซื้อข้าวเหนียวแต่รับมอบแล้วมีข้าวเจ้าปน โดย อคส.และ อ.ต.ก. อยู่ระหว่างสะสางปัญหา หากเหลือการค้างรับมอบเท่าไร จะนำออกมาระบายอีกครั้งในปีหน้า ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับข้าว อคส. และ อ.ต.ก.จะเรียกเก็บจากเซอร์เวเยอร์และเจ้าของคลังต่อไป.