นับตั้งแต่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบด้วย 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ สาธารณสุข มหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม มีมติ “ยกเลิก” การนำเข้าสารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เมื่อเดือน เม.ย.2560 ส่วนไกลโฟเซต ถูกจำกัดการใช้
ก่อนที่ในวันที่ 1 ธ.ค.2562 จะต้องยุติการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าวโดยสิ้นเชิง
ในช่วงเวลาสุญญากาศที่เหลือกว่า 1 ปี ก่อนจะยุติการใช้นั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการใช้สารเคมีต่อไป และฝ่ายที่คัดค้าน เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งผู้ใช้และผู้บริโภคพืช ผัก และผลไม้
จากข้อมูลของมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ระบุว่า พาราควอต หรือสารกำจัดวัชพืช เป็นสารเคมีอันตรายที่มีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ และก่อเกิดโรคพาร์กินสัน หรือโรคสั่นสันนิบาต ปัจจุบันมีประเทศที่แบนพาราควอตแล้วประมาณ 51 ประเทศ และเตรียมการแบนในปี 2020 อีก 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และบราซิล
ขณะที่คลอร์ไพริฟอส หรือยากำจัดแมลงศัตรูพืชนั้นเป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารกโดยตรง และสารฆ่าแมลงชนิดนี้ศาลที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งตัดสินไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ดำเนินการแบนภายใน 60 วัน เนื่องจากยังพบการตกค้างในน้ำดื่มและพืช
เช่นเดียวกับที่ไกลโฟเซต หรือยากำจัดวัชพืช ที่สถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก ประ-กาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง และศาลที่สหรัฐอเมริกายังตัดสินให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลก ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับอดีตภารโรงจำนวน 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9,600 ล้านบาท เนื่องจากยาฆ่าหญ้าที่ผลิตจากบริษัทเพื่อใช้ในการกำจัดวัชพืชในสนามโรงเรียน ทำให้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
นอกจากนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) ระบุว่า การสุ่มตรวจผักและผลไม้ในท้องตลาดทั่วประเทศ จำนวน 150 ตัวอย่าง เมื่อช่วงปลายปี 2560 พบว่า มีสารพิษตกค้างจำนวนมาก โดยเฉพาะพาราควอตตกค้างสูงถึง 55% จากจำนวน 38 ตัวอย่าง รองลงมาคือไกลโฟเซต ตรวจพบสารตกค้าง 6 ตัวอย่าง
ขณะที่นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกตัวประกาศสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดแบบสุดโต่ง หนุนทำการเกษตรอินทรีย์ควบคู่เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่จากฝ่ายรัฐบาล
ส่วนฝ่ายที่มีความคิดเห็นตรงข้าม ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์อารักขาพืช มีความคิดเห็นว่า การแบนทั้ง 3 สารนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ รวมถึงเกษตรกรด้วย หากไม่มีสารพาราควอตใช้ ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจะสูงขึ้น เพราะต้องใช้แรงงานคนในการถอนหญ้า ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายต่อไร่สูง
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเห็นชอบมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอแนะแนวทางการใช้ 3 สารเคมี โดยมีมติยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ในพื้นที่ปลูกพืชผัก สมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ อาทิ โรงเรียน สนามกอล์ฟ บ้านเรือน ภายใน 90 วัน
ขณะที่สารเคมีพาราควอตและไกลโฟเซตให้ใช้เฉพาะในพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ส่วนสารคลอร์ไพริฟอสใช้ในการปลูกไม้ผลไม้ดอกและพืชไร่เท่านั้น
สำหรับเรื่องสารทดแทนพาราควอตนั้น กรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้เปิดเผยชื่อสาร เพียงแต่ระบุว่า สารทดแทนยังมีราคาแพงและกำจัดศัตรูพืชได้แค่บางชนิดเท่านั้น ไม่ครอบคลุมกำจัดศัตรูพืชเหมือนกับพาราควอต
หลังจากมีมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกมา กรมวิชาการเกษตรจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public hearing) ผู้มีส่วนได้เสียในช่วงปลายเดือน ก.ย.61 อีกครั้ง ทั้งเกษตรกร เอ็นจีโอ และนักวิชาการ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาทางออกเกี่ยวกับวิธีการจำกัดการใช้สารเคมี ทั้งโควตาการนำเข้า วิธีการใช้ การอบรมเกษตรกร และการออกใบอนุญาต เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกันว่าช่วงเวลาที่เหลือจะมีทางออกที่ชัดเจนอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการใช้สารเคมีในการเกษตร เมื่อย้อนไป 3 ปี จะพบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร หรือสารเคมีเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 ไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมด 149,546 ตัน 19,326 ล้านบาท ในปี 2559 ไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมด 160,825 ตัน มูลค่า 20,618 ล้านบาท และในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยนำเข้าสารเคมี 198,317 ตัน มูลค่า 27,922 ล้านบาท
โดยเมื่อดูข้อมูลทั้งหมด จะเห็นความย้อนแย้งกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะลดใช้สารเคมี 10% ภายในปี 2564 และเพิ่มพื้นที่การเกษตรอินทรีย์กว่าล้านไร่ เพื่อทำให้ประเทศไทยไม่เป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยสารพิษ.
นันท์ชยา ชื่นวรสกุล
econ@thairath.co.th