คลี่ "มหานครการบินอู่ตะเภา" ตามรอยเมืองอุตสาหกรรมจาก "เจิ้งโจว" ถึงอีอีซี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลี่ "มหานครการบินอู่ตะเภา" ตามรอยเมืองอุตสาหกรรมจาก "เจิ้งโจว" ถึงอีอีซี

Date Time: 10 ก.ย. 2561 09:15 น.

Summary

  • นิตยสาร Time ได้ยกให้แนวคิด Aerotropolis หรือ “มหานครการบิน” เป็น 1 ใน 10 แนวคิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เป็นการกำหนดรัศมีการพัฒนาสนามบินและพื้นที่เมืองโดยรอบที่สอดรับกิจกรรม

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นิตยสาร Time ได้ยกให้แนวคิด Aerotropolis หรือ “มหานครการบิน” เป็น 1 ใน 10 แนวคิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เป็นการกำหนดรัศมีการพัฒนาสนามบินและพื้นที่เมืองโดยรอบที่สอดรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน และอาศัยสนามบินเป็นแกนกลาง เชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสารและสินค้าจากแหล่งวัตถุดิบ แหล่งผลิต และแหล่งจำหน่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ออกแบบแนวคิดดังกล่าวคือ “มร.จอห์น ดี. คาซาร์ด้า” และได้เคยนำเสนอให้รัฐบาลไทยสมัยนายชวน หลีกภัย เมื่อ 25 ปีก่อน แต่เรื่องตกไปเมื่อเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ต่อมาเขาได้เสนอรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ช่วงก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ แต่เกิดรัฐประหารขึ้นมาเสียก่อนแนวคิดดังกล่าวจึงถูกเก็บเข้าลิ้นชักมาโดยตลอด

ปัจจุบัน มร.จอห์น ดี. คาซาร์ด้า เป็นที่ปรึกษาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และได้ปัดฝุ่นผลักดันให้ประเทศไทยนำ “มหานครการบินอู่ตะเภา” เข้าเป็นส่วนสำคัญของเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี”

ทั้งนี้ มร.จอห์น ดี. คาซาร์ด้า เปิดเผยในระหว่างการร่วมเดินทางกับคณะของผู้บริหาร สกพอ.นำโดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.ไปดูงานเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone : ZAEZ) สาธารณรัฐ ประชาชนจีนที่ปัจจุบันกำลังสร้างตัวเองให้เป็น Aerotropolis ของภูมิภาคเอเชียเหนือว่า เขาได้เสนอแนวคิดการสร้างมหานครการบินให้กับรัฐบาลจีนที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้วยการพัฒนาเมืองบริเวณตอนกลางและตะวันตกของจีนผ่านการเชื่อมระบบขนส่ง ทั้งทางบกและทางอากาศ ดังเช่นเมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) มณฑลเหอหนาน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของจีน ภายหลังจากเมืองในฝั่งตะวันออกไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ มีความเจริญมากแล้ว

จากปี 2556 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ปัจจุบันผ่านไป 5 ปี รัฐบาลจีนได้เดินตามยุทธศาสตร์การสร้าง “มหานครการบินเจิ้งโจว” ตามที่เขาวางไว้ให้ทุกอย่างและเมื่อกลับมาดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เขากล่าวว่า “รู้สึกมหัศจรรย์มากๆ” และแนวคิดเช่นนี้เองที่คาซาร์ด้าระบุว่าเหมาะสมกับการพัฒนา “มหานครการบินอู่ตะเภา”

ยิ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์เหมือนเขตเศรษฐกิจพิเศษเจิ้งโจวด้วยแล้ว เพราะอยู่บนพื้นที่เดิมที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด และกำลังต่อยอดอุตสาหกรรมโดยรอบภายใต้เขตพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งยังมีพัทยาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจากดอนเมือง-สุวรรณภูมิและอู่ตะเภาด้วยแล้ว จะทำให้การสร้างมหานครการบินอู่ตะเภามีโอกาสประสบความสำเร็จสูงยิ่ง

“ตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะสร้างมหานครการบินอู่ตะเภา เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันอาศัยเทคโนโลยีเป็นหลักต่างจากเดิมที่อาศัยแนวคิด Economy of Scale คือผลิตจำนวนมากทำให้ต้นทุนต่ำลง เปลี่ยนมาเป็น Economy of Speed คือธุรกิจสามารถผลิตสินค้าได้เร็วขึ้นจะทำให้ต้นทุนลดลง และหมายรวมไปถึงการขนส่งจะต้องมีความรวดเร็วด้วย ประกอบกับสินค้าในอุตสาหกรรมใหม่เริ่มมีขนาดเล็กลง จึงเหมาะกับการขนส่งทางอากาศ”

เขายังระบุด้วยว่า เปรียบเทียบเส้นทางการพัฒนาในศตวรรษที่ 20 เป็นเรื่องเกี่ยวกับเมืองที่ต้องเกิดขึ้นมาก่อนค่อยสร้างสนามบิน แต่ในศตวรรษที่ 21 สนามบินจะสร้างให้เกิดเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่โดยรอบ 30 ตารางกิโลเมตรของท่าอากาศยานอู่ตะเภามีความเหมาะสมที่จะเป็นมหานครการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้การขนส่งผู้โดยสาร และสินค้ามีความเชื่อมโยง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กัน

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) ประกอบไปด้วย การพัฒนามหานครการบินบนพื้นที่ประมาณ 415 ตารางกิโลเมตร โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติเจิ้งโจวซินเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มีการออกแบบท่าอากาศยานเพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ต้นทุนขนส่งต่ำที่สุด จึงมีการเชื่อมโยงการเดินทางรูปแบบต่างๆ แบบไร้รอยต่อ ทั้งทางถนน ทางรถไฟระหว่างเมือง รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าใต้ดิน พร้อมยังมีการวางแผนพัฒนาเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นเมืองน่าอยู่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการวางแผนพัฒนาธุรกิจบนทำเลที่เหมาะสม และเกิดกำไรสูงสุดต่อผู้ประกอบการ

“ZAEZ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลต่อประเทศจีน ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ระหว่างปี 2556 ถึงปี 2560 เพิ่มขึ้น 20% จากข้อมูลสถิติปี 2560 พบว่า มีการลงทุนในพื้นที่ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในพื้นที่ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจัยหลักของความสำเร็จ คือ บริษัท Foxconn ซึ่งเป็นเอกชนรายใหญ่จากไต้หวันที่รัฐบาลจีนให้สิทธิประโยชน์แบบพิเศษเข้ามาลงทุนและส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นตามกันมา”

บริเวณโดยรอบของสนามบินประกอบด้วย ทิศตะวันออกมีธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ธุรกิจขนส่ง และกระจายสินค้าทางอากาศ คลังสินค้า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซระหว่างประเทศ ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า โรงแรม ด้านทิศใต้มีธุรกิจการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ธุรกิจชีวการแพทย์ ธุรกิจไอที ไอซีที ธุรกิจวิจัยและพัฒนา ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอากาศยานชั้นสูง ส่วนทิศเหนือเป็นเขตที่อยู่อาศัย สถาบันการศึกษา โดยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแค่ 5 ปีเท่านั้น และรัฐบาลจีนยังเล็งที่จะนำแนวคิดมหานครการบินนี้ขยายผลไปยังเซี่ยงไฮ้ และกวางโจวด้วย

“สำหรับประเทศไทย ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องเดินหน้าโครงการนี้ เพราะนี่คือโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สำเร็จ ส่วนปัจจัยเดียวที่อาจทำให้โครงการล้มเหลวก็คือแรงงานและบุคลากร จึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับพัฒนาคนไทยให้ก้าวทันเทคโนโลยี”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ