”ไทยนิยมยั่งยืน” เดินหน้าต่อเนื่องสร้างรายได้เกษตรกร ถึงคิวคนเมืองจันท์ ได้งบชุมชนละ 3 แสน รวม 28 ล้าน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ เกษตรกรดีใจ ต่อยอดการผลิต เพิ่มรายได้รากหญ้า
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง ซึ่งได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ ผ่าน 2 กิจกรรม คือ 1.การอบรมหลักสูตรพัฒนาการเกษตร และ 2.การพัฒนากลุ่มเกษตรกร โดยส่งเสริมให้รวมกลุ่มจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพในชุมชน โดยรัฐจะสนับสนุนชุมชนละไม่เกิน 300,000 บาท ล่าสุดจังหวัดจันทบุรีอยู่ระหว่างขับเคลื่อนกิจกรรมที่ 2 โดยมีการอนุมัติโครงการของเกษตรกรเรียบร้อยแล้วทั้งหมด 205 โครงการ จาก 94 ชุมชน งบประมาณ 28,198,482 บาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงบำรุงดิน 78 โครงการ งบประมาณ 14,599,830 บาท รองลงมาได้แก่ การผลิตพืช การผลิตอาหารและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
ด้านนายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรในหลายด้าน สิ่งแรกในเรื่องรายได้ ซึ่งแม้จะเป็นรายได้เสริม แต่เราตั้งเป้าไว้ว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรประมาณ 2-3 เท่าของงบประมาณที่ได้รับ ขณะที่ผลประโยชน์อีกประการ ในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ จากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ กับผู้ค้าในท้องถิ่น รวมถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างเกษตรกร นอกจากนี้หลังเสร็จสิ้นโครงการแล้ว เกษตรกรก็ยังมีเครื่องไม้เครื่องมือเหลืออยู่ ทำให้สามารถนำไปต่อยอดทำอาชีพเสริมสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องได้ต่อไป
นางสาวณิชชากัญญ์ วงษ์จีนเพชร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื่อบ้านท่าแฉลบ ต.บางกระจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า กลุ่มได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 170,000 บาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการทอเสื่อและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเสื่อกก โดยเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมเดิมในโครงการ 9101 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นเป็นการดำเนินการในส่วนต้นน้ำ คือ การทำนากกเพื่อผลิตวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปทำเสื่อกกและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ส่วนโครงการนี้เป็นของบประมาณเพื่อสนับสนุนสำหรับการจัดซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติม เช่น ฟองน้ำ ผ้า หนัง สีย้อม สำหรับนำไปประกอบการทำสินค้าแปรรูปอื่นๆ ที่ทำจากเสื่อกกอีกต่อหนึ่ง
“ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกกของกลุ่มมีมาก เช่น กระเป๋า จานรองแก้ว เสื่อบุฟองน้ำสำหรับใช้เป็นที่นอน เฉลี่ยเดือนหนึ่งมีการผลิตสินค้าทั้งชิ้นเล็กและใหญ่นับพันชิ้น เพราะเราจะไม่ให้เสียของ ขณะที่ช่องทางการตลาดก็มีแนวโน้มที่ดี โดยมีการวางขายที่กลุ่ม ร้านของฝากใน จ.จันทบุรี และใกล้เคียง หรือแม้แต่กัมพูชาก็มาสั่งซื้อ เพราะคนที่โน่นนิยมเสื่อบุฟองน้ำของเรามาก ดังนั้นเมื่อมีการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย จึงเหมือนกับเป็นการมอบโอกาสให้กับกลุ่ม ที่จะนำงบประมาณไปต่อยอดการผลิต การค้า ทำให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้หมุนเวียนในกลุ่มและชุมชน จึงต้องขอขอบคุณ รัฐบาล และกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ให้การสนับสนุนพวกเรา และอยากให้มีโครงการลักษณะนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ และมีรายได้ที่ยั่งยืน” น.ส.ณิชชากัญญ์ กล่าว.