“กิจการเพื่อสังคม”...เป็นกลไก สำคัญของ...“เศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืน”
ยกตัวอย่างคลาสสิกกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย ต้องยกให้ “กาแฟดอยตุง” เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ผลิตกาแฟดอยตุงโดยใช้หลักบริหารธุรกิจ บริหารกาแฟดอยตุงเป็นธุรกิจที่มีกำไร
แต่กำไรของกาแฟดอยตุง นอกจากเป็นตัวเงินแล้ว ก็คือการช่วยเหลือชาวเขาให้เลิกปลูกฝิ่น มาปลูกกาแฟ ทำให้ชาวเขาเหล่านั้นมีงานทำ แก้ไขปัญหาดั้งเดิมที่สะสมมาแต่อดีต
“ขณะเดียวกันก็แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม คืนผืนป่ากลับคืนมาเป็นผืนป่ากาแฟ แทนที่จะเป็นดงฝิ่น เป็นธุรกิจที่มีกำไรและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตรงนี้ที่เรียกว่าโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์”
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นักวิชาการกิจการเพื่อสังคม กล่าวย้ำอีกว่า กิจการเพื่อสังคมก็คือการทำธุรกิจ แต่วัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจนี้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม
หัวใจสำคัญมีว่า...เดิมเราก็มี “ภาครัฐ” กับ “ภาคเอกชน” ภาครัฐพยายามที่จะแก้ไขปัญหาสังคมโดยใช้งบประมาณของรัฐบาล รวมทั้งมีองค์กรการกุศลต่างๆที่ทำเรื่องช่วยเหลือสังคม กลุ่ม...เครือข่ายเอ็นจีโอทั้งหลายที่อยากจะทำให้สังคมดีขึ้น เราเรียกว่าภาคส่วนที่หนึ่ง ภาคส่วน ที่สองคือ “เอกชน” หน้าที่หลักทำกำไรให้กับองค์กร
“ทีนี้ภาครัฐ ภาคเอ็นจีโอก็พยายามทำมานานแล้วแต่ปัญหาสังคมก็ยังมีอยู่ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็เริ่มสนใจหันมาทำการคืนกำไรให้กับสังคมมากขึ้นในรูปของซีเอสอาร์ แต่ว่าก็เป็นการทำที่สำเร็จเป็นครั้งๆไป ไม่ยั่งยืน...ไม่ต่อเนื่อง เลยเกิดภาคส่วนที่สามขึ้นมา”
เรียกว่าเป็นภาคที่นำวัตถุประสงค์ทางสังคมของ “ภาคส่วนที่หนึ่ง” มีความเป็นรัฐบวกกับเอ็นจีโอ ผนวกกับความสามารถในการบริหารตามแบบของภาคเอกชน ซึ่งเป็น “ภาคส่วนที่สอง” รวมมาอยู่ด้วยกัน กลายเป็น “ภาคส่วนที่สาม” (Third Sector) นี่เองที่เราเรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม” หรือ “ธุรกิจเพื่อสังคม”
สภาวการณ์ปัจจุบันจากจำนวน “ประชากร” ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ “ทรัพยากร” มีอย่างจำกัดและหาได้ยากลำบาก ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง การเปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านี้ ทำให้ประเทศต่างๆ มีความเสี่ยงและมีความซับซ้อนมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมา
เงื่อนปัญหาสำคัญข้างต้นจึงเป็นที่มาของฉันทามติของ 193 ประเทศทั่วโลก ที่ร่วมกันประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ...ที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า SDGs (Sustainable Development Goals)
และด้วยคำพูดที่ว่า “ธุรกิจจะเติบโตไม่ได้ในสังคมที่ล้มเหลว” จึงทำให้องค์กรต่างๆต่างตระหนักว่าการที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น องค์กรธุรกิจจะต้องทำให้เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
เกิดความยั่งยืนไปพร้อมๆกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆหันมามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ทำกันช้าเกินไปก็ตาม แต่ในภาพใหญ่แล้วแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา...
การเดินทางไปสู่เป้าหมายเพื่อทำให้ “เศรษฐกิจ”...“สังคม” และ “สิ่งแวดล้อม” มีความยั่งยืน จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้ฝังเรื่องเหล่านี้เข้าไปในคนขององค์กร ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มในระดับบอร์ดของบริษัท...ผู้บริหาร รวมถึงพนักงานทุกคนที่ต้องทำงานประสานกันเป็นลักษณะ “อีโค ซิสเต็ม” (eco system)
ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่ง “ความยั่งยืน” นี้ก็ขึ้นอยู่กับการตีความ บางเรื่องบริษัทก็อาจจะทำได้ไม่เยอะมาก ขณะที่บางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรงก็สามารถสร้างสรรค์กิจกรรม หรือนวัตกรรมต่างๆได้มากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว “การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน” ก็เป็นเรื่องของแต่ละบริษัท
ความท้าทายจึงจะสะท้อนออกมาให้เห็นว่า องค์กรที่ว่า...เป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่ออนาคตหรือเปล่า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากกว่า
เหมือนคนละเรื่องเดียว เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ แต่มาแนวๆเดียวกันกับ...“กิจการเพื่อสังคม”
ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจ TCP เจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง เรดบูล มองเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนว่า...ทุกวันนี้ธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อนทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น
การทำงานเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทจึงได้โฟกัสไปใน 3 ด้านที่เกี่ยวข้อง ด้านที่หนึ่ง...ธุรกิจและคู่ค้าธุรกิจ จะต้องดำเนินกิจการของตนอย่างรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา
“ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบต้องมาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบ ไม่เอาเปรียบสังคม การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรม จนกระทั่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย รวมถึงต้องลดการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ”
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ย้ำว่า เรื่องนี้เราจะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องให้พันธมิตรของธุรกิจทำไปด้วยกัน โดยการสร้างความเข้าใจ ลงมือทำงานร่วมกัน ทำไปด้วยกัน ทั้งระบบนิเวศ...เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน ทุกอณูขององค์กรและคู่ค้าจะต้องไปในทิศทางเดียวกัน
...เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคือความสอดคล้องในการทำธุรกิจ
นอกจากความซื่อสัตย์...รับผิดชอบต่อกิจการแล้ว การพัฒนาคุณภาพสินค้า...บริการ...คุณภาพชีวิตของพนักงานก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
“การดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย ทั้งสุขภาพกาย...สุขภาพใจ สร้างความผูกพันกับองค์กร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ ความก้าวหน้าในอาชีพ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้คนดี คนเก่ง คนที่มีศักยภาพสูงอยากทำงาน...อยู่กับองค์กรตลอดไป”
ประการสุดท้าย...ธุรกิจจะมีความยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อ “สังคม” หรือ “ชุมชน” ที่เราทำธุรกิจอยู่ด้วยมีความยั่งยืน นั่นหมายถึงการทำงาน การผลิตสินค้า...บริการของบริษัทจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้พลังงาน ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า การปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับน้ำ ก็จะต้องดูแลเรื่องน้ำ บริหารจัดการน้ำให้ดี ไม่ไปแย่งดึงน้ำจากชุมชน
“ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนที่โรงงานตั้งอยู่ให้ดีขึ้นด้วย ทุกอย่างล้วนแล้ว เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งสิ้น”
เมื่อธุรกิจของเราเติบโตอย่างรับผิดชอบ ไม่ทำร้ายสังคม...สนับสนุนให้เราเข้าไปมีส่วนในการช่วยลดช่องว่างต่างๆ ส่งเสริมทำให้สังคมโดยรอบดีขึ้น ชุมชนก็จะชื่นชม ยินดี อยากจะให้เราอยู่คู่กับชุมชนไปนานๆ
การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเป็น “โอกาส” ของธุรกิจ ก้าวไปสู่อนาคต ...คิดค้นหานวัตกรรมใหม่ๆตอบสนองต่อความต้องการของสังคม เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ
เมื่อทุกคนทำดี ธุรกิจบริษัทกิจการต่างๆดี สังคมก็ดี และประเทศชาติก็จะดีในที่สุด คำถามสำคัญมีว่า...ทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งในจิ๊กซอว์นี้ช่วยกันทำแค่ไหน รับผิดชอบอย่างเต็มที่หรือยัง...พอจะรู้กันบ้างว่ากิจกรรม “ซีเอสอาร์” คือให้เขาไป อย่างที่สองเรียกว่า “สอนให้เขาเรียนรู้ แล้ว ก็ประกอบอาชีพได้” แต่...การประกอบอาชีพได้นั้นก็คือ “โซเชียลเอนเตอร์ไพรส์”...“กิจการเพื่อสังคม”...ไม่ได้ช่วยแบบให้ของ ให้เงินช่วยแบบฉาบฉวย
“ไม่ได้ให้ปลาเขากิน แต่สอนให้เขาตกปลา...เพื่อให้เขามีปลากินตลอดชีวิตและเขาประกอบอาชีพในการตกปลาเพื่อขายปลาได้” ...“กิจการเพื่อสังคม” เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วกิจการอยู่ได้ ชุมชนที่เกี่ยวข้องอยู่ได้ บริษัทผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องอยู่ได้อย่างยั่งยืน...จะเป็นฐานเศรษฐกิจสังคมที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน.