กรมบัญชีกลางลุยไฟสร้างบิ๊กดาต้า ดึง 26 สวัสดิการแจกเงิน จ่ายผ่านบัตรคนจน ปีหน้าคิวเบี้ยยังชีพคนชรา หลังปีนี้นำร่องบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค มั่นใจมาตรการช่วยเหลือคนจนทำได้ตรงจุด ลดภาระงบประมาณ หากพบข้อมูลว่ารวยแล้วแกล้งจนหั่นสิทธิบัตรทอง
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในปีหน้ากรมบัญชีกลางจะนำเบี้ยยังชีพคนชรา จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยได้ตรงจุด และแม่นยำมากขึ้น โดยปัจจุบันเบี้ยคนชรา บริหารจัดการ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิประมาณ 9 ล้านคน โดยผู้มีอายุ 60-69 ปี ได้รับเดือนละ 600 บาท อายุ 70-79 ปี เดือนละ 700 บาท อายุ 80-89 ปี เดือนละ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาท รวมเป็นเบี้ยคนชราที่จ่ายต่อปี 70,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อนำข้อมูลเบี้ยคนชรา รวมกับข้อมูลประชาชนที่มาลงทะเบียนขอรับสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียน 11.4 ล้านคน แบ่งเป็นประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 8.3 ล้านคน ซึ่งมีอายุเกินกว่า 60 ปี จำนวน 3 ล้านคน ขณะเดียวกันผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000-100,000 บาทต่อปี มีอยู่ 3.1 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และมีจำนวนผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ 200,000-300,000 คน
“ปัจจุบันรัฐบาลมอบสวัสดิการกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ จำนวน 44 สวัสดิการ แบ่งเป็น แจกเงิน 26 สวัสดิการ และอีก 18 สวัสดิการ แจกเป็นสิ่งของ อย่างไรก็ตาม แผนงาน กรมจะนำสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน โอนเงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการฯ โดยเลือกสวัสดิการที่สำคัญๆ และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากก่อน โดยในปีนี้ได้นำบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ส่วนปีหน้าจะนำเรื่องเบี้ยยังชีพคนชรา”
นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวอีกว่า กรมได้เข้าใกล้ฐานข้อมูลที่มีความถูกต้องและแม่นยำมากที่สุดแล้ว ผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี มีสิทธิที่ได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจึงมอบเงินช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี รับเพิ่ม 100 บาท และมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี รับเพิ่มอีก 50 บาท โดยเงินก้อนนี้จะใส่ไปในบัตรสวัสดิการช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ซึ่งสามารถกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2561 ยังอนุมัติให้กรมบัญชีกลางโอนเงินให้แก่ผู้ลงทะเบียนฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเฟส 2 ได้รับเงินอีก 200 บาท กรณีมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และอีก 100 บาท กรณีที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท สามารถกดเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.จนถึง ธ.ค.รวม 4 เดือน แสดงให้เห็นว่าสวัสดิการฯต่างๆที่กรมบัญชีกลางใส่ลงไปในบัตรสวัสดิการฯ กำลังทำงานและเงินก็กำลังหมุนอยู่ในระบบฐานรากเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะลดให้สิทธิประชาชนที่ถือบัตรทอง โดยคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี มีอยู่จำนวน 11.4 ล้านคน ยังคงสิทธิของบัตรทองไว้เหมือนเดิม ส่วนประชาชนที่มีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี สิทธิในบัตรทองก็ควรที่จะลดลงหากมีฐานะดีหรือร่ำรวย เช่น จ่ายเอง 10% บัตรทองจ่ายให้ 90% หรือจ่ายเงินเอง 20% บัตรทองจ่ายให้ 80% เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระเงินงบประมาณไปปีละนับแสนล้านบาท เป็นต้น.