นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ในฐานะคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ ได้ระบายข้าวสารในสต๊อกที่เก็บอยู่ใน 1,800 โกดังทั่วประเทศ จากการประมูลทั้งหมด 32 ครั้ง นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศเดือน พ.ค.57 ไปแล้ว 16.91 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 146,000 ล้านบาท หลังจากที่กรมฯได้เปิดประมูลข้าวลอตสุดท้ายวันที่ 29 และวันที่ 30 ส.ค.61 ปริมาณ 268,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวเสื่อมเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน 245,000 ตัน และข้าวเสื่อมที่เข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ 22,300 ตัน ซึ่งมีผู้ขอซื้อทั้งหมด และผู้ชนะประมูลได้เสนอราคาในระดับที่พอใจ “ตั้งแต่ คสช.บริหารประเทศ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือ ที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน หลังตรวจสอบแล้วพบว่า มีปริมาณทั้งหมด 17.76 ล้านตัน ต่างจากตัวเลขทางบัญชีขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่แจ้งไว้กับรัฐบาลก่อนที่จำนวน 18.70 ล้านตัน หรือมีส่วนต่าง 940,000 ตัน โดยในส่วนที่กรมฯรับผิดชอบระบาย 17.76 ล้านตันนั้น เป็นข้าวที่มีภาระผูกพันต้องส่งมอบให้กับผู้ซื้อ จากการที่รัฐบาลก่อนได้ทำสัญญาไว้ 850,000 ตัน จึงเหลือข้าวที่จะต้องระบาย 16.91 ล้านตัน และขณะนี้ได้ระบายหมดสต๊อกแล้ว”
ทั้งนี้ ภารกิจในการระบายข้าวรัฐบาลของกรมฯที่ใช้เวลานานประมาณ 4 ปี ถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว ยกเว้นกรณีที่เกิดปัญหา เช่น ผู้ชนะประมูลไม่มารับข้าว หรือขนข้าวออกจากโกดังตามสัญญา แต่คงมีปริมาณไม่มาก ปัจจุบันผู้ชนะประมูลได้ทำสัญญารับมอบข้าวแล้ว 12.62 ล้านตัน ที่เหลือรอการรับมอบต่อไป โดยส่วนที่รอรับมอบ แบ่งเป็นข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่คนบริโภคได้ 650,000 ตัน ที่เหลือเป็นข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ “หากมีปัญหาที่อาจมีการนำมาประมูลใหม่ คงเป็นข้าวที่คนกินได้ที่ยังไม่ได้รับมอบ เพราะอาจมีข้อถกเถียงเรื่องคุณภาพ ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ อาจนำมาประมูลใหม่ ส่วนข้าวที่คนและสัตว์กินไม่ได้คงไม่มีปัญหา”
นางมนัสนิตย์ กล่าวว่า สำหรับข้าวที่มีส่วนต่างทางบัญชี 940,000 ตัน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อคส.และ อ.ต.ก.นั้น ล่าสุดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ขอข้อมูลจากกรมฯ 2 รอบแล้ว คาดว่าจะทราบผลตรวจสอบเบื้องต้น ก.ย.นี้.