กสทช.ห่วงไทยไปไม่ถึงฝั่งฝัน 5 จีในปี 2563 เหตุเอกชนเมินร่วมวงประมูล เพราะราคาสูงลิบ เตรียมชงบอร์ดขยายเวลาชำระเงินประมูลครั้งใหม่ จาก 3-4 ปี เป็น 6-8 ปี ย้ำชัด! ไม่ลดราคาแน่ หลัง “เอไอเอส” ควง “ดีแทค” ประมูลคลื่น 1800 ค่ายละ 1 ใบ รัฐได้เงิน 25,022 ล้านบาท
พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ว่า การประมูลครั้งนี้ใช้เวลาประมูล 1 ชั่วโมง 15 นาที โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ประมูล 1 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคา 12,511 ล้านบาท เช่นเดียวกับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประมูล 1 ใบอนุญาต ราคา 12,511 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 20,522 ล้านบาท “กสทช.นำคลื่น 1800 ออกมาประมูลทั้งหมด 9 ใบอนุญาต ขณะนี้เหลืออีก 7 ใบอนุญาต ฉะนั้น กสทช.ก็ต้องประเมินผลกันใหม่ว่าจะดำเนินการประมูลอย่างไร เพื่อให้เอกชนเข้าร่วมประมูลในครั้งหน้า ส่วนจะทบทวนราคาประมูลหรือไม่ ต้องรอหารือในที่ประชุมบอร์ด หลังสำนักงาน กสทช.เสนอผลการวิเคราะห์ก่อน”
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้ สำนักงานจะนำมาวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียและจะนำเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อกำหนดการประมูลคลื่น 1800 ในครั้งถัดไป คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปีนี้ หรืออย่างช้าภายในต้นปี 2562 เพื่อเตรียมตัวให้ประเทศไทยเข้าสู่บริการ 5 จีในปี 2563 ส่วนการทบทวนเงื่อนไขการประมูลนั้น เบื้องต้นจะไม่ปรับลดราคาเริ่มต้นลง แต่จะเสนอขยายเวลาชำระการประมูลออกไป เช่น คลื่น 1800 มีระยะเวลาชำระเงิน 3 ปี ขยายเป็น 6 ปี คลื่น 900 มีระยะเวลาชำระเงิน 4 ปี ขยายเป็น 8 ปี เป็นต้น “5 จีในประเทศไทย จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ กสทช. แต่ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนด้วยว่า จะมาประมูลคลื่นความถี่ เพื่อลงทุนสร้างโครงข่าย ให้บริการ 5 จี หรือไม่ ซึ่งการประมูล 3 จี และ 4 จี ที่ผ่านมา เอกชนได้ลงทุนสร้างโครงข่ายจำนวนมหาศาล และทุกวันนี้ก็ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หากต้องลงทุน 5 จีอีก ภาครัฐต้องสนับสนุน เพราะหากภาครัฐไม่ช่วย ผมเป็นห่วงว่า 5 จี ในประเทศไทย จะก้าวไม่ทันนานาประเทศ เหมือน 4 จี ที่ไทยล้าหลังกว่าหลายประเทศเกือบ 10 ปี”
ทั้งนี้ การประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ครั้งนี้ ทำให้การถือครองคลื่นความถี่ที่เป็นตัวของตัวเองทั้งหมดของเอไอเอส มี 45 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็นคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ 15 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 10 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 20 เมกะเฮิรตซ์, ทรูมูฟรวม 40 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็นคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ 15 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 10 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 15 เมกะเฮิรตซ์ และดีแทค รวม 20 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ 15 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 5 เมกะเฮิรตซ์
ด้านนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค กล่าวว่า การประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 5 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 1 ใบอนุญาตนั้น ถือว่าเพียงพอสำหรับดีแทคแล้วในขณะนี้.