วิกฤติ "ต้มยำไก่งวง" มาแล้ว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

วิกฤติ "ต้มยำไก่งวง" มาแล้ว

Date Time: 18 ส.ค. 2561 05:02 น.

Summary

  • โดมิโนเอฟเฟกต์ วิกฤติใหม่ เชื่อว่าคนไทยที่เคยผ่านวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” มาคงรู้ถึงฤทธิ์เดชของมันได้เป็นอย่างดีว่าเกิดอะไรขึ้น สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยและมีผลต่อโลกด้วย...

Latest

รัฐย้ำเดินหน้าแจกเงินหมื่นเฟส 2 สมาคมค้าปลีกชงฟื้นช็อปดีมีคืนอัดเงินแสน ล.เข้าระบบ

โดมิโนเอฟเฟกต์ วิกฤติใหม่

เชื่อว่าคนไทยที่เคยผ่านวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” มาคงรู้ถึงฤทธิ์เดชของมันได้เป็นอย่างดีว่าเกิดอะไรขึ้น สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยและมีผลต่อโลกด้วย

วันนี้ตุรกีกำลังจะเกิดเหตุเช่นนั้นขึ้นมาอีกแล้ว ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อประเทศต่างๆ โดยอียูซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ปล่อยกู้ให้ตุรกีมากที่สุด

เหตุไม่ต่างกันระหว่าง “ต้มยำกุ้ง” กับ “ต้มยำไก่งวง”

เหตุของเหตุก็มาจากเจ้าเก่าเวลาใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่เปิดปฏิบัติการบีบทุกรูปแบบต่อตุรกี

สหรัฐฯเปิดประเด็นไม่พอใจที่รัฐบาลตุรกีจับกุมบาทหลวงชาวอเมริกันคนหนึ่ง และขอให้ปล่อยตัวแต่ตุรกีปฏิเสธ นี่เป็นต้นเหตุให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากสหรัฐฯด้วยการประกาศคว่ำบาตรทันที

ย้อนกลับไปนิดว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับตุรกีนั้นมีฐานมาจากหลายเรื่อง ที่รุนแรงหน่อยก็ตรงที่เกิดการรัฐประหารชิงอำนาจเพื่อล้มล้าง “เออร์โดกัน” ผู้นำ

ตุรกีแต่ล้มเหลวไม่เป็นท่าของผู้นำทหาร ทำให้ “เออร์โดกัน” ไม่พอใจสหรัฐฯที่ปกป้องผู้นำทางศาสนาที่ตุรกีกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้การหนุนหลังและหลบหนีไปอยู่ที่สหรัฐฯ

หรืออีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตุรกี ซึ่งเป็นสมาชิกนาโต ซึ่งมีอิทธิพลมากพอสมควร เพราะเป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์สามารถนำอาวุธนิวเคลียร์ไปติดตั้งได้เพื่อใช้กดดันรัสเซีย และประเทศในตะวันออกกลางซึ่งเป็นศัตรูของสหรัฐฯและนาโต

นั่นคือ “อิหร่าน” คู่แค้นสำคัญที่ตุรกีสนิทแนบแน่นในระยะหลัง

อีกทั้งตุรกียังกล่าวหาว่า อิสราเอลซึ่งเป็นมิตรสนิทเนื้อนาบุญของสหรัฐฯในการปราบปรามปาเลสไตน์ด้วยวิธีการที่รุนแรงในเขตฉนวนกาซา

เหล่านี้คือ ปมเหตุที่คุกรุ่นกันมาตลอด อยู่ที่ว่ารอจังหวะที่จะเปิดฉากใส่กัน กระทั่งมาเจอเรื่องบาทหลวงชาวสหรัฐฯที่ถูกจับกุม
“ทรัมป์” จึงใช้เป็นเงื่อนไขเพื่อจัดการกับตุรกีทันที

การประกาศคว่ำบาตรตุรกีพร้อมกับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก อะลูมิเนียมและสินค้าด้านการเกษตร ซึ่งสหรัฐฯเป็นตลาดสำคัญที่ตุรกีต้องพึ่งพา รวมถึงไม่ยอมขายเครื่องบินให้ด้วย

แต่ตุรกีก็ไม่ใช่เล่น เพราะถือว่ายังมีพันธมิตรใหญ่ยืนอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียและจีนที่ประคับประคองมาตลอด โดยเฉพาะการซื้ออาวุธจากรัสเซียจำนวนมาก

ผลก็คือ เศรษฐกิจของตุรกีเกิดอาการอ่อนไหวทันควัน ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงทุกวัน กระทบถึงประเทศต่างๆอีกหลายประเทศ โดย เฉพาะประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา

ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาวติดต่อกัน

ประเทศไทยแม้จะมีผลกระทบในวงจำกัด แต่ก็มีความกังวลเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเกรงว่าจะลามไปทั่วโลก

“ตุรกี” เป็นประเทศหน้าด่านที่สำคัญจากยุโรปไปสู่ตะวันออกกลางและยังมีพรมแดนติดต่อกับซีเรียและอิหร่าน เป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศ ซึ่งมีเครื่องบินรบของสหรัฐฯและกองกำลังสนธิสัญญาของนาโตอีกด้วย

ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ก็จะเสียหายกันไปทั้งหมด

เจ้าหนี้ใหญ่อย่างอียูคงปล่อยให้สภาพการณ์เป็นไปอย่างนี้ไม่ได้ เพราะจะลามปามกระทบอียูเองอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสภาพของอียูก็ใช่ว่าจะดีนัก

แต่สหรัฐฯคงต้องบีบให้ถึงที่สุดให้ยอมจำนนเพราะมิอาจทิ้งตุรกีไปได้.

“สายล่อฟ้า”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ