กสทช.โล่ง "เอไอเอส-ดีแทค" เข้าประมูล แต่คลื่น 900 ขายไม่ออก!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กสทช.โล่ง "เอไอเอส-ดีแทค" เข้าประมูล แต่คลื่น 900 ขายไม่ออก!

Date Time: 9 ส.ค. 2561 09:09 น.

Summary

  • “เอไอเอส” ควง “ดีแทค” ยื่นประมูลคลื่น 1800 “ฐากร” เข้าใจ ทั้งสองค่ายเมินประมูลคลื่น 900 เพราะมีความเสี่ยง อีกทั้งราคาแพงที่สุดในโลก คาดทั้งสองค่าย จะยื่นประมูลแค่ 1 ใบ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์...

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“เอไอเอส” ควง “ดีแทค” ยื่นประมูลคลื่น 1800 “ฐากร” เข้าใจ ทั้งสองค่ายเมินประมูลคลื่น 900 เพราะมีความเสี่ยง อีกทั้งราคาแพงที่สุดในโลก คาดทั้งสองค่าย จะยื่นประมูลแค่ 1 ใบ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ผลปรากฏว่า มี 2 รายที่สนใจมายื่นเอกสารการประมูล ได้แก่ กลุ่มบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โดยทั้ง 2 ราย สนใจยื่นเอกสารประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยไม่สนใจร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ทั้งสองค่ายได้ยื่นเอกสารการประมูล พร้อมเช็คเงินสดสำหรับค่ายื่นคำขอรายละ 500,000 บาท และเช็คเงินสดเพื่อเป็นหลักประกันรายละ 2,500 ล้านบาท โดย กสทช.จะตรวจสอบเอกสาร และจะเปิดประมูลในวันที่ 19 ส.ค.2561 โดยราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 1800 อยู่ที่ 12,485 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องราวดีๆที่ดีแทคและเอไอเอสมายื่นเอกสารการประมูลคลื่น 1800 แต่ไม่ยื่นประมูลคลื่น 900 โดยเหตุที่ไม่สนใจคลื่น 900 นั้น ดีแทค ได้ชี้แจงมาแล้วว่า เนื่องจากไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนระบบป้องกันการรบกวนคลื่น ทั้งของผู้ชนะประมูล และของผู้ใช้คลื่น 900 อยู่เดิม ทำให้ไม่สามารถกำหนดงบประมาณการลงทุน ถือว่ามีความเสี่ยง ขณะที่เอไอเอส แจ้งว่า มีคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์อยู่แล้ว 10 เมกะเฮิรตซ์ ขณะนี้จึงไม่จำเป็นที่จะยื่นประมูลในช่วงนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การยื่นประมูลครั้งนี้ ทั้งดีแทคและเอไอเอสเลือก 1800 นั้น มีความเป็นไปได้ที่แต่ละรายจะเลือก 1 ใบ โดยดีแทค เลือก 1 ใบ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรักษาสิทธิ์ในการใช้คลื่น เพื่อเยียวยาผู้ใช้บริการที่ยังเหลืออยู่ ส่วนเอไอเอส ก็เลือก 1 ใบ ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ เช่นกัน เพื่อนำมาเสริมการใช้คลื่น 1800 ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เอไอเอส มีคลื่น 1800 เพิ่มเป็น 20 เมกะเฮิรตซ์ จากปัจจุบัน 15 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนที่ไม่มีรายใดเลือกประมูลคลื่น 900 เนื่องจากราคาแพงที่สุดโลก โดยราคาเริ่มต้น 35,988 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ และไม่มีความชัดเจนเรื่องการลงทุนระบบป้องกันสัญญาณรบกวนทั้งของตัวเองและของผู้ประกอบการรายอื่นๆ

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า การเข้าประมูลคลื่นใหม่ จะทำให้เอไอเอสมีโอกาสนำคลื่นไปพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆเพื่อบริการลูกค้า แต่สำหรับคลื่น 900 ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูล

ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนและจะยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยดีแทคมีแผนนำคลื่น 1800 มาให้บริการ 2 จีแก่ลูกค้าเดิมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับฐานลูกค้าที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังจะนำคลื่น 1800 มาให้บริการ 4 จีด้วย ส่วนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูล.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ