หุ้น ‘ดีแทค’ เด้งในรอบ 7 สัปดาห์ รับข่าวยื่นประมูลคลื่น 1800

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หุ้น ‘ดีแทค’ เด้งในรอบ 7 สัปดาห์ รับข่าวยื่นประมูลคลื่น 1800

Date Time: 8 ส.ค. 2561 11:35 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ดีแทค ยื่นแล้วชิงคลื่นความถี่ 1800 MHz แต่ไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz เพราะเงื่อนไข กสทช.ให้รับภาระค่าใช้จ่ายสัญญาณกวนรถไฟฟ้า ประมาณ 2 พันล้านบาท ราคาหุ้นพุ่งพรวดกว่า 5 บาท

Latest


ดีแทค ยื่นแล้วชิงคลื่นความถี่ 1800 MHz แต่ไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz เพราะเงื่อนไข กสทช.ให้รับภาระค่าใช้จ่ายสัญญาณกวนรถไฟฟ้า ประมาณ 2 พันล้านบาท ราคาหุ้นพุ่งพรวดกว่า 5 บาท

เมื่อเวลา 10.18 น. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันนี้ (8 ส.ค.) ส่วนคลื่น 900 MHz กสทช.ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตด้วยนั้น ดีแทคจะไม่เข้าประมูล

หลังการยื่นประมูล ในเวลาประมาณ 11.31 น. ราคาหุ้นดีแทคปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.25 บาท จากราคาปิดเมื่อวานนี้ที่ 40 บาท สูงสุดในรอบประมาณ 7 สัปดาห์


ขณะที่ดีแทคได้ส่งเอกสารประชาสัมพันธ์ โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชี้แจงสรุปว่า ที่ประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ เพราะ กสทช.ได้ประกาศปรับเงื่อนไขกฎเกณฑ์การประมูลยืดหยุ่นสำหรับผู้เข้าประมูล และยังช่วยส่งเสริมการแข่งขันในการประมูล โดยดีแทคมีแผนนำคลื่นมาใช้รองรับบริการ 2จี ที่ยังมีลูกค้าอยู่จำนวนมาก และเพิ่มประสิทธิภาพบริการ 4จี รองรับการใช้อินเทอร์เน็ตที่เติบโตรวดเร็ว


ส่วนการไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เงื่อนไขประมูลระบุว่า ผู้ชนะประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ต้องรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว และ กสทช.ขอสงวนสิทธิ์ปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890/930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ซึ่งในกรณีจะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการในกรณีแรก ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของผู้ชนะใบอนุญาตคลื่น 900 MHz

นอกจากนี้ดีแทคยังคงเจรจากับ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองลูกค้า หลังสิ้นสุดสัมปทานระหว่างดีแทค และแคทเทเลคอม วันที่ 15 ก.ย.นี้ โดยถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างดีแทคและ กสทช. ที่จะดำเนินตามแผนคุ้มครองลูกค้า จนกว่าจะจัดสรรคลื่นให้ผู้ให้บริการรายใหม่

ขณะที่เมื่อวานนี้ (7 ส.ค.) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไม่ร่วมประมูลทั้งสองคลื่นความถี่ดังกล่าว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ