นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ว่า ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยการส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัว 11.1% ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัว 12.5% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 2 โดยขยายตัว 4.2% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกขยายตัวได้ที่ 3.6% อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ของเกษตรกรในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 6.2% แต่รายได้ไตรมาสแรกที่ติดลบ ทำให้ครึ่งปีแรกรายได้เกษตรกรโตเพียง 1.7% ผลจากราคาสินค้าเกษตรโดยรวมที่ขยายตัวติดลบ 9.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ การส่งออกและการใช้จ่ายที่ดีขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม โดยครึ่งปีแรกขยายตัว 3.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 4.6% และครึ่งปีแรกขยายตัว 3.3% ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับของการส่งออกและท่องเที่ยว โดย 6 เดือนแรกของปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 21,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นการไหลออกสุทธิ 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี แต่ในครึ่งปีหลัง หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาสเศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อ แต่หากเทียบปีต่อปี ตัวเลขครึ่งปีหลังอาจจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก เนื่องจากฐานในปีที่ผ่านมาสูง ขณะที่ความเสี่ยงที่ ธปท.ติดตามในครึ่งปีหลัง นอกเหนือจากการติดตามผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ จีน และประเทศอื่นแล้ว อีกเรื่อง คือ ภาคการท่องเที่ยวในครึ่งปีหลัง ซึ่ง ธปท.เห็นว่า ผลจากเรือล่ม ที่ จ.ภูเก็ต เริ่มส่งผลให้มีการยกเลิกการจองทัวร์ในไตรมาสที่ 3 ของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ไตรมาส 3 การขยายตัวของการท่องเที่ยวจะลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการคาดว่าในไตรมาสที่ 4 นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเพราะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว โดย ธปท. จะปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมใหม่ โดยจะเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 8 ส.ค.นี้”.