น้ำตาเรือจ้าง!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

น้ำตาเรือจ้าง!

Date Time: 31 ก.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • อีกกรณีคุณครู “แม่พิมพ์ใจพระ” ที่ถูกลูกศิษย์ที่คุณครูช่วยค้ำประกันหนี้เงินกู้ กยศ.ให้ พากัน “เทหนี้” ให้คุณครูต้องชดใช้จนต้องถูกฟ้องยึดบ้านและที่ดินขายทอดตลาด!...

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

2 เหตุการณ์ที่กำลังสะท้านวงการ “แม่พิมพ์ของชาติ” ในเวลานี้ เห็นจะไม่มีเรื่องใดฮอตเท่ากรณีกลุ่มครูในจังหวัดมหาสารคามประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” ให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ (ช.พ.ค.) และจะขอยุติการชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป

กับอีกกรณีคุณครู “แม่พิมพ์ใจพระ” ที่ถูกลูกศิษย์ที่คุณครูช่วยค้ำประกันหนี้เงินกู้ กยศ.ให้ พากัน “เทหนี้” ให้คุณครูต้องชดใช้จนต้องถูกฟ้องยึดบ้านและที่ดินขายทอดตลาด!

เป็น 2 อารมณ์ที่ต่างกันสุดขั้ว โดยกรณีกลุ่มครูชักแถวชักดาบหนี้ ช.พ.ค.นั้นกลายเป็นประเด็นสุดฮอตที่โลกโซเชียลพากันรุมถล่มกลุ่มครูที่ได้ชื่อว่าเป็น “พ่อพิมพ์–แม่พิมพ์ของชาติ” ที่คิดจะเบี้ยวหนี้เงินกู้เหล่านี้ เพราะหากครูบาอาจารย์เป็นเสียเองแบบนี้ แล้วลูกศิษย์ลูกหาที่กู้เงินยืมเรียนจะไม่เอาเยี่ยงอย่างชักดาบหนี้กันเป็นทิวแถวหรือ?

ไม่ถึงห้วงสัปดาห์ก็ปรากฏข่าวคราวสุดสะเทือนใจ เมื่อปรากฏข่าว “คุณครูใจพระ” ที่ชื่อ “ครูวิภา บานเย็น” แห่งจังหวัดกำแพงเพชร ถูกบรรดาลูกศิษย์ที่ตนเองค้ำประกันหนี้เงินกู้ยืมเรียน หรือกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พากันชักแถว “เทหนี้” ร่วม 30 คน จากที่คุณครูค้ำประกันหนี้ให้ 60 คน จนแม่พระผู้นี้ต้องถูก กยศ.ไล่ฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันจนต้องถูกยึดบ้านและที่ดินไปขายทอดตลาด!

“แม่พิมพ์ใจพระ” ต้องหลั่งน้ำตาออกมาเรียกร้องและขอร้องให้ลูกศิษย์ที่ครูเคยค้ำประกันเงินกู้ให้เหล่านี้ได้โปรดชำระหนี้ให้ ก่อนที่คุณครูจะไม่หลงเหลืออะไร!

และกลายเป็นประเด็นสุดดราม่าที่ทำเอาสังคมต่างหวนกลับมาแสดงความเห็น “แม่พิมพ์ใจพระ” รายนี้ ผู้มีหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ อยากเห็นลูกศิษย์ได้ดีมีอนาคต ยอมเซ็นค้ำประกันหนี้เงินกู้ กยศ.เพื่อให้นักเรียนของตนเองถึง 60 คน ให้ได้มีโอกาสกู้เงินกองทุน กยศ.เพื่อเล่าเรียน

แต่สิ่งที่คุณครูได้รับนั้นแทนที่จะเป็นความสำเร็จ สำนึกบุญคุณจากศิษย์ที่ไปได้ดิบได้ดี ก็กลับเป็นหนี้สินก้อนโตที่บรรดาลูกศิษย์เหล่านั้นพากันชักแถวชักดาบ!

น้ำตาแม่พิมพ์ใจพระที่พรั่งพรูออกมาในวันที่ต้องโพสต์ข้อความขอความเห็นใจลูกศิษย์กว่า 30 คน จาก 60 คน ที่คุณครูเซ็นค้ำประกันหนี้ให้นั้น มันช่างบาดลึกลงไปถึงก้นบึ้งของผู้คนที่ต่างก็เคยผ่านความเป็นลูกศิษย์ลูกหาของครูบาอาจารย์กันมาด้วยทั้งสิ้น!

และไม่ใช่มีแต่เฉพาะรายของ “ครูวิภา” เท่านั้น ยังมีกรณีของ “ครูหมี-คุณครูสรพงศ์ เค้ากล้า” แห่งโรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม อำเภอเมืองชัยภูมิ ที่ประสบชะตากรรมเดียวกันจากการไปเซ็นค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ให้ลูกศิษย์ร่วม 40 รายได้กู้เงินกองทุน กยศ. และก็ถูกลูกศิษย์ชักแถว “เทหนี้” ไปถึง 13 ราย สุดท้ายต้องถูกฟ้องไล่เบี้ย มีหมายศาลมายึดบ้านที่ดินเช่นเดียวกับครูวิภา

ยังมีกรณีของ “ครูไกรวิทย์ สุขสำอางค์” อดีตครูโรงเรียนเอกชนย่านหนองแขมที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน และดูจะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เพราะไปเซ็นค้ำประกันหนี้เงินกู้ กยศ.ให้ลูกศิษย์กว่า 40-50 คน และก็ถูก “เทหนี้” จนถูกฟ้องไล่เบี้ยกว่า 6 ล้านบาท ต้องบ้านแตกสาแหรกขาดถูกฟ้องล้มละลายต้องออกจากงาน ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบสุข!

นี่หรือคือสิ่งตอบแทนที่ลูกศิษย์ที่ครูเคยพร่ำสอนตอบแทนให้กับผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่!!!

หลังเรื่องราวของ “ครูวิภา” ถูกถ่ายทอดออกมา เราได้เห็นผู้บริหาร กยศ.ตบเท้าออกมาแสดงความรับผิดชอบทันควัน ด้วยการสั่งถอนการริบหลักประกันในคดีที่ศาลมีคำพิพากษายึดทรัพย์ไปแล้ว 4 คดี และชะลอการฟ้องอีก 17 คดี เพื่อหาทางหนีทีไล่อื่น รวมทั้งหาทางติดตามไล่เบี้ยหนี้กองทุนเอากับอดีตศิษย์เทครูทั้งหลายเหล่านี้

พร้อมกับยืนยันด้วยว่ากยศ.ไม่ได้มีเจตนาจะฟ้องไล่เบี้ยเอาแต่เฉพาะคุณครูผู้ค้ำประกัน แต่เป็นไปตามระเบียบที่เมื่อลูกหนี้ผู้กู้ไม่ชำระหนี้ กยศ. หรือได้ติดตามทวงหนี้ทวงทรัพย์แล้วพบว่าลูกหนี้ไม่อยู่ในฐานะจะชำระหนี้ได้ หรือไม่มีทรัพย์ให้ยึดชดใช้ได้ จึงต้องหันไปไล่เบี้ยเอากับผู้ค้ำประกัน

คำถามที่สังคมต้องย้อนถามไปยังผู้บริหาร กยศ.ก็คือ กยศ.ไม่มี Databased หรือระบบที่จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เลยหรือถึงทำให้ไม่สามารถจะสืบเสาะแสวงหาที่อยู่-ที่ทำงานของบรรดาลูกหนี้ที่ตนเองป่าวประกาศความสำเร็จว่า วันนี้ปล่อยกู้ออกไปแล้ว กว่า 5.4 ล้านราย วงเงินกู้กว่า 5.7 แสนล้านบาทนั้น

ไอ้ที่ว่าลูกหนี้ 1 ล้านรายอยู่ในช่วงปลอดหนี้ และอยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย วงเงินกว่า 2.5 แสนล้านบาท หรือที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว 2.1 ล้านราย วงเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาทนั้น แต่ละคนอยู่ที่ไหน จบแล้วทำงานที่ไหน อย่างไร อยู่ในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือมีการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ใช้บัตรทองรักษาพยาบาล 30 บาท หรือมีการจ่ายภาษีเงินได้เข้ารัฐหรือไม่อย่างไร

ข้อมูลเหล่านี้ กยศ.ไม่มีอยู่ในมือเลยกระนั้นหรือ? ไม่มีการบูรณาการกับหน่วยงานใดอื่นเลยหรือถึงพุ่งเป้าไปไล่เบี้ยเอากับบุคคลผู้ค้ำประกันก่อนเป็นอันดับแรก จนทำให้เกิดคำถาม “พันธนาการ” ของผู้ค้ำนั้นจะต้องผูกพันกันไปกี่ชั่วโคตรหรืออย่างไร เพราะ 15-20 ปีแล้วที่คนเหล่านี้กู้ไปกลับยังคงให้ผู้ค้ำยังต้องตามไปชดเชยหนี้ให้อยู่

หากไม่เกิดกรณี “ครูวิภา” แม่พิมพ์ใจพระที่ต้องเสียสละตนเองมากถึงขนาดนี้ เราคงไม่ได้เห็นความฟอนเฟะของระบบการบริหารงานของกองทุน กยศ.ว่าฟอนเฟะ ไร้การบูรณาการ และพล่ามแต่ไทยแลนด์ 4.0 แต่เปลือกแน่!!!.

ชูชาติ สว่างสาลี


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ