นักเศรษฐศาสตร์ หนุนภาษีลาภลอย สร้างความเป็นธรรมในสังคม แนะรัฐประมาณการรายได้ นำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แบ่งอีกส่วนให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ใช้ในพื้นที่ ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะกทม.-ปริมณฑล...
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมเก็บภาษีลาภลอย ว่า ต้องมุ่งเป้าไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การขยายฐานรายได้ภาษี มีการจัดเก็บภาษีตามประโยชน์จากการลงทุนของรัฐที่ได้รับอย่างเป็นธรรม เบื้องต้นจะมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และพื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมีสูงสุดไม่เกิน 5 กิโลเมตรรอบโครงการ โดยกำหนดสัดส่วนภาษีต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ประมาณ 17-18% ซึ่งเศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ มีฐานภาษีแคบ ผู้ที่อยู่ในระบบภาษีมีจำนวนน้อยกว่าที่ควร จะเป็นก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี ผู้ที่เสียภาษีอยู่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป
ทั้งนี้ การเก็บภาษีลาภลอยจะช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐ โดยสังคมไทยนั้นอาจจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อภาครัฐในการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ไม่สูงนัก จึงไม่เอื้อให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษีมากนัก ทั้งที่การเสียภาษีเป็นหน้าที่และผู้จ่ายภาษีมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลควรทำประมาณการรายได้จากภาษีลาภลอย เพื่อสามารถวางแผนงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ดีขึ้น โดยสามารถลดการกู้เงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการระบบราง ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ เป็นต้น
ส่วนหน่วยงานจัดเก็บภาษีควรดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายได้จากภาษีลาภลอยควรแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้บำรุงรักษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งเก็บรายได้เข้ารัฐบาลกลางเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการพัฒนา เพื่อให้ความความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนากระจายตัวไปยังพื้นที่ชนบท ไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม ภายใต้โลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน การใช้มาตรการภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมีข้อจำกัดมากขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ จึงต้องมุ่งไปที่การใช้มาตรการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการ การผ่านกฎหมายภาษีมรดก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลแทบจะเก็บภาษีไม่ค่อยได้ เพราะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ อย่างล่าสุด รัฐบาลก็ต้องอนุมัติในหลักการร่างกฎหมายทรัสต์เพื่อจัดการทรัพย์สินเพื่อช่วยลดการนำทรัพย์สินออกไปบริหารจัดการนอกประเทศ
พร้อมเสนอว่า รัฐบาลควรให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเพื่อทำให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบ หากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน รัฐสามารถดูแลสวัสดิการกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยนี้ โดยนำเอามาตรการรายจ่ายด้านสวัสดิการมาผูกกับระบบภาษีได้ด้วย เมื่อมีฐานข้อมูลจะสามารถใช้มาตรการเงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อยได้ ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ในเวลาที่มีรายได้น้อยยากจน ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีจะได้รับเงินโอนช่วยเหลือ ในอนาคตเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นเข้าเกณฑ์การเสียภาษีก็จะเข้าสู่ระบบเสียภาษีโดยอัตโนมัติ การมีรายได้ของคนไทยอย่างชัดเจนทำให้การจัดสวัสดิการและการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ รัฐควรไปศึกษาการปฏิรูปภาษีให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย เนื่องจากธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการ ระบบการชำระเงินเกิดขึ้นในโลกออนไลน์และเว็บไซต์ซึ่งก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษีและบางครั้งไม่สามารถเก็บภาษีได้จากความซับซ้อนของธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลเหล่านี้ และการจะแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับโลกที่ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลดความเป็นระบบราชการของกรมจัดเก็บภาษี โดยปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ.